Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรูปแบบและประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้านที่ดีโดยครอบครัว เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการเก็บข้อมูลแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant observation) เลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจงตามเกณฑ์ จำนวน 20 คน ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้านโดยครอบครัว ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 การยอมรับการเป็นผู้ดูแล (Acceptance to be a caregiver) มี 4 ประเด็น คือ 1) การตัดสินใจในการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลหลัก 2) การประเมินตนเอง และเศรษฐกิจของผู้ดูแล 3) การจัดการตนเอง เพื่อจัดการปัญหาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบของตนเอง 4) ผลตอบแทนที่ตนเองได้รับจากการเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลหลัก องค์ประกอบที่ 2 การปรับตัวและการพัฒนาของผู้ดูแลหลัก (Adjustment and development) ในด้านการเรียนรู้ การลงมือปฏิบัติ การปรับปรุงพัฒนา และการประเมินผล เพื่อให้เกิดกระบวนการดูแลที่ดี มี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้านหลังจากพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ระยะที่ 2 การดูแลที่บ้าน ระยะที่ 3 การพัฒนาและการดูแลที่ดีอย่างต่อเนื่อง องค์ประกอบที่ 3 การเอื้ออาทรจากชุมชน (Assistance from community) ได้แก่ เครือญาติ เพื่อนบ้าน ชุมชน ทีมสุขภาพในชุมชน (ทีมหมอครอบครัว อสม. ทีมบุคลากรด้านสุขภาพ) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน