Abstract:
-การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สังเคราะห์งานวิจัย 2) วิเคราะห์มโนทัศน์การวิจัย และ 3) พัฒนากลยุทธ์ส่งเสริมการทำวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ งานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระหว่างปีการศึกษา 2549-2558 ในหลักสูตรที่เน้นการทำวิจัย (แผน ก) และมีการเผยแพร่ผลงานผ่านทางระบบฐานข้อมูลงานวิจัยโครงการเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (Thai Library Integrated System: ThaiLIS) รวม 396 เรื่อง เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกคุณลักษณะงานวิจัย แบบประเมินคุณภาพงานวิจัย แบบประเมินความเหมาะสมของมโนทัศน์การวิจัย และแนวคำถามการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา และพัฒนากลยุทธ์ส่งเสริมการทำวิจัยด้วยการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยสรุปได้ว่า งานวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีผลการสำรวจคุณภาพงานวิจัยสอดคล้องกัน คือ มีค่าเฉลี่ยคุณภาพงานวิจัยโดยรวมระดับดี เมื่อพิจารณาตามกลุ่มระดับคุณภาพงานวิจัยพบว่า งานวิจัยส่วนมากมีคุณภาพระดับดีมาก รองลงมา คือ ปานกลาง ค่อนข้างต่ำ และดี ส่วนงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับต่ำนั้นมีจำนวนน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยคุณภาพงานวิจัยระดับดีมากมี 2 ด้านได้แก่ ด้านผลการวิเคราะห์ข้อมูลและด้านการนำเสนอรายงานวิจัย ด้านที่มีค่าเฉลี่ยคุณภาพงานวิจัยระดับดีมี 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวิธีดำเนินการวิจัย ด้านการสรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ ด้านบทนำ และด้านเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีด้านใดมีค่าเฉลี่ยคุณภาพงานวิจัยต่ำกว่าระดับดี ผลการสังเคราะห์งานวิจัยพบว่า ตัวแปรข้อมูลคุณลักษณะงานวิจัยที่ส่งผลต่อความแตกต่างของคุณภาพงานวิจัยทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มี 9 ตัวแปรได้แก่ สาขาวิชา ปีที่จบการศึกษา แบบแผนการวิจัย กลุ่มทฤษฎีหลัก ประเภทสมมติฐานการวิจัย วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง การใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล และการตรวจสอบข้อตกลงเบื้องต้นทางสถิติ ตัวแปรข้อมูลคุณลักษณะงานวิจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพงานวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มี 5 ตัวแปร ได้แก่ จำนวนตัวแปรตาม จำนวนตัวแปรต้น จำนวนตัวแปรแฝง จำนวนสมมติฐานการวิจัย และจำนวนวิธีวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนตัวแปรข้อมูลคุณลักษณะงานวิจัยที่มีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพงานวิจัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นั้นพบเฉพาะในระดับปริญญาโท มี 3 ตัวแปร ได้แก่ จำนวนปีที่ใช้ในการศึกษาตามหลักสูตร จำนวนตัวแปรที่ศึกษา และจำนวนเครื่องมือวิจัย ผลการวิเคราะห์มโนทัศน์การวิจัยพบว่า ผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นสอดคล้องกันทุกข้อเกี่ยวกับความถูกต้องและความเหมาะสมของมโนทัศน์การวิจัย ของนิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และพบว่าความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมีความสอดคล้องกับเกณฑ์การแปลผลการประเมินคุณภาพงานวิจัยที่กำหนดไว้ ผลจากการวิเคราะห์มโนทัศน์การวิจัยพบประเด็นที่ควรได้รับการพัฒนาโดยเร่งด่วน ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการให้ความสำคัญต่อการเขียนข้อจำกัดและข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัย และประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตกลงเบื้องต้นทางสถิติ เมื่อใช้สถิติพาราเมตริกในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการทำวิจัย ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกลยุทธ์ระดับแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการทำวิจัย รวม 15 กลยุทธ์ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) กลยุทธ์ระดับอาจารย์ผู้สอนและห้องเรียน 2) กลยุทธ์ระดับการบริหารจัดการหลักสูตร และ 3) กลยุทธ์ระดับการบริหารจัดการองค์กร