Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 จำแนกตามสาขาวิชาที่จบการศึกษา ประสบการณ์ในการสอน และขนาดของโรงเรียน เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 โดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, p. 608) กลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้สอนระดับปฐมวัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 118 คน เครื่องมือที่ใช้ใน การรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ จำนวน 57 ข้อ ซึ่งค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง .27-.77 และค่าความเชื่อมั่นแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ .98 สถิติที่ใช้ใน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ผลการวิจัย พบว่า 1. ปัญหาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับครอบครัวของเด็ก ด้านบูรณาการเรียนรู้ ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ด้านการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม และด้านประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก 2. เปรียบเทียบปัญหาการบริหารการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนในสังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 จำแนกตามสาขาวิชาที่จบการศึกษา ประสบการณ์ในการสอน และขนาดของโรงเรียน โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. แนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ได้แก่ 1) จัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับความต้องการวัย และพัฒนาการของเด็กและ มุ่งพัฒนาเด็กทั้งปกติ เด็กพิเศษ และเด็กด้อยโอกาส 2) จัดสภาพแวดล้อมที่สนองความต้องการ ความสนใจ และพัฒนาการของเด็กและจัดหาสื่ออุปกรณ์ที่เหมาะสมและเพียงพอต่อจำนวนเด็ก 3) จัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและเรียนรู้ด้วยตนเอง 4) จัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็กเพื่อให้เด็กได้ปฏิบัติและเกิดการเรียนรู้ 5) จัดทำเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อประเมินพฤติกรรมของเด็กให้ครบทุกด้าน 6) ผู้สอนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาเด็กและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก