Abstract:
พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองสิทธิบุคคลผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบในคดีอาญาให้ได้รับการเยียวยาจากรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่อย่างไรก็ตามในการเยียวยาบุคคลผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายนี้ก็ยังมีปัญหาของหลักเกณฑ์บางประการ จากการศึกษาพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ปีพ.ศ. 2559 รวมถึงแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องในประเด็นของบุคคลที่ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีอาญาโดยที่มิได้เป็นผู้กระทำความผิด เปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ พบว่า ตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ความคุ้มครองเพียงกรณีของ “จำเลย” ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลแต่ไม่คุ้มครองถึงกรณีของ “ผู้ต้องหา” ที่ถูกคุมขังแล้วได้รับการปล่อยตัว เพราะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในชั้นสอบสวนของตำรวจและอัยการ แต่อย่างใดขณะที่ต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่ น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และราชอาณาจักรสวีเดนนั้น ได้ให้ความคุ้มครองถึงกรณีผู้ต้องหาไว้ด้วยอีกประเด็นคือในกรณีการกำหนดค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญานั้นได้มีการกำหนดเป็นจำนวนเงินทดแทนไว้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นซึ่งไม่สามารถช่วยเยียวยาผลกระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงที่สูญเสียไปได้ในขณะที่ต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐฝรั่งเศส จะมีการประกาศทางหนังสือพิมพ์ให้บุคคลอื่นทราบถึงความบริสุทธิ์ของบุคคลนั้น เพื่อเป็นการเยียวยาในเกียรติยศชื่อเสียงอีกทางหนึ่งด้วย จึงเห็นว่า ควรนำหลักเกณฑ์ของต่างประเทศในแต่ละประเด็นที่กล่าวมา เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายของไทยให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลยและผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ต้องถูกคุมขังโดยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดให้ได้รับการทดแทนเยียวยาจากรัฐอย่างเหมาะสมต่อไป