Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนขนาดกลางในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร และครูผู้สอนในระดับปฐมวัยของโรงเรียนขนาดกลางในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 จำนวน 106 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมินการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนขนาดกลาง ในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 พิจารณาความตรงตามเนื้อหาและความเหมาะสมเท่ากับ .80-1.00 มีค่าอำนาจจำแนกของแบบประเมิน .44-.88 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับของแบบประเมิน เท่ากับ .97 สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ร้อยละสะสม คะแนนเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และดัชนีความต้องการจำเป็นในการพัฒนา ผลการวิจัย พบว่า 1. สภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันของการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนขนาดกลางในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 โดยรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เรียง 3 อันดับ ได้แก่ ด้านที่ 1 ด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านที่ 3 ด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และด้านที่ 2 ด้านการจัดการศึกษา ตามลำดับ 2. สภาพที่ควรจะเป็นในความคาดหวังของการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนขนาดกลางในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 โดยรวม พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งต้องพัฒนาต่อไป เรียง 3 อันดับ ได้แก่ ด้านที่ 2 ด้านการจัดการศึกษา ด้านที่ 4 ด้านอัตลักษณ์ของสถานศึกษา และด้านที่ 5 ด้านมาตรการส่งเสริม ตามลำดับ 3. ความต้องการจำเป็นในการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาระดับปฐมวัยของโรงเรียนขนาดกลางในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 โดยรวม พบว่า ต้องการพัฒนา เรียง 3 อันดับ ได้แก่ ด้านที่ 1 ด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านที่ 3 ด้านการสร้างสังคม แห่งการเรียนรู้ และด้านที่ 2 ด้านการจัดการศึกษา ตามลำดับ 4. ข้อเสนอแนะ คือ ควรบูรณาการการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการคิด วิเคราะห์ของเด็กให้มากขึ้น สร้างความตระหนักแก่ผู้ปกครองให้ร่วมมือดูแลเด็กและจัดการศึกษา ใช้ครูตรงสาขา จัดกิจกรรมพัฒนาเด็กให้บรรลุตามเป้าหมายการจัดการศึกษาปฐมวัยอย่างแท้จริง และในการดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรมที่ตอบสนองตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาควรมีความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา