Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาองค์ประกอบการจัดการภาระครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 2) เพื่อศึกษาอิทธิพลของการจัดการภาระครอบครัวที่มีต่อความสุขในครอบครัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 3) เพื่อเสริมสร้างการจัดการภาระครอบครัว และความสุขในครอบครัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยการปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการ การววิจัยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาองค์ประกอบการจัดการภาระครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และศึกษาอิทธิพลของการจัดการภาระครอบครัวที่มีต่อความสุขในครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มารับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเขตบริการสุขภาพที่ 6 จำนวน 388 ครอบครัว ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และคู่สมรสของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งหมด 776 คน ขั้นตอนที่ 2 การเสริมสร้างการจัดภาระครอบครัว และความสุขในครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยการปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการ ผู้วิจัยคัดเลือกครอบครัว เพื่อเข้าร่วมการทดลองจากครอบครัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลระยอง จำนวน 83 ครอบครัว ที่มีคะแนนการจัดการภาระครอบครัวต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 25 ลงมาได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 20 ครอบครัว โดยทำการจับคู่ระหว่างกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมากที่สุด แล้วทำการสุ่มตัวอย่างง่ายด้วยด้วยวิธีการจับสลาก เพื่อเข้าเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามระบบปกติของโรงพยาบาล และกลุ่มทดลองที่ได้รับการปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการที่พัฒนาขึ้น กลุ่มละ 10 ครอบครัว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบวัดการจัดการภาระครอบครัว แบบวัดความสุขในครอบครัว และการปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการ จำนวน 12 ครั้ง ครั้งละ 60-90 นาที โดยใช้รูปแบบการทองแบบ 2 กลุ่ม และมีการวัดซ้ำ แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และติดตามผล การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การวิเคราะห์ค่าสถิติขึ้นพื้นฐาน และใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน
ผลการศึกษาวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. องค์ประกอบการจัดการภาระครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การจัดการความตึงเครียดของครอบครัว การจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว การจัดการความรู้สึกผิดของสมาชิกครอบครัว และเจตคติของครอบครัว มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีน้ำหนักองค์ประกอบมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสามารถวัดองค์ประกอบการจัดการภาระครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้
2. การจัดการภาระครอบครัวมีอิทธิพลต่อความสุขในครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลเท่ากับ .89 และสามารถทำนายความเข้มแข็งของครอบครัวได้ร้อยละ 71
3. การปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการส่งผลให้การจัดการภาระครอบครัวและความสุขในครอบครัวของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พบว่า การจัดการภาระครอบครัวและความสุขในครอบครัวระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และติดตามผล ในกลุ่มที่ได้รับการปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05