Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลการให้การปรึกษากลุ่มเกสตัลท์ ต่อความเหนื่อยหน่ายของผู้ป่วยที่ต้องทำการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยที่ต้องทำการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง โรงพยาบาลบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จำนวน 20 คน ที่มีคะแนนความเหนื่อยหน่ายในการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป และสมัครใจเข้าร่วมการวิจัย จากนั้นสุ่มอย่างง่ายเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน เครื่องมือในการศึกษาประกอบด้วยแบบวัดความเหนื่อยหน่ายของมาสลาช และ แจ็คสัน (Maslash & Jackson) จำนวน 22 ข้อ และโปรแกรมการปรึกษากลุ่มเกสตัลท์ โดยกลุ่มทดลอง ได้รับการปรึกษา 12 ครั้ง การเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนการทดลอง ระยะ หลังการทดลอง และระยะติดตามผล จากนั้นนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีวิเคราะห์ความแปรปรวน แบบวัดซ้ำประเภทตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่ม และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีแบบนิวแมน-คูลส์ ผลการวิจัยพบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองกับระยะเวลาของการทดลอง ต่อความเหนื่อยหน่ายในการล้างไตทางช่องท้องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้ป่วยที่ต้องทำการล้างไตทางช่องท้องที่ได้รับการปรึกษากลุ่มเกสตัลท์ที่มีต่อความเหนื่อยหน่ายในการล้างไตทางช่องท้องต่ำกว่ากลุ่มควบคุมในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05และผู้ป่วยที่ต้องทำการล้างไตทางช่องท้องกลุ่มทดลองมีความเหนื่อยหน่าย ในการล้างไตในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05