Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาแนวโน้มการบริหารตามภารกิจมหาวิทยาลัยของรัฐในภาคตะวันออกสู่ประชาคมอาเซียนในทศวรรษหน้า และตรวจสอบความเหมาะสมระเบียบวิธีวิจัย โดยใช้เทคนิคการวิจัยอนาคตแบบชาติพันธุ์วรรณา (Ethnographic Delphi Future Research: EDFR) จากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการศึกษาผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยของรัฐใน ภาคตะวันออกที่มีบทบาทในการบริหารมหาวิทยาลัย การกำหนดนโยบาย และภารกิจของมหาวิทยาลัยจำนวน 17 คน และตรวจสอบความเหมาะสมจากผู้บริหารและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐในภาคตะวันออก โดยใช้วิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) ตามเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนด จำนวน 364 คน โดยคิดสัดส่วนตามขนาดของมหาวิทยาลัยตามตาราง เครจซี่ และมอร์แกน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหาใช้เทคนิคการสรุปสะสมค่ามัธยฐาน ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ ร้อยละ ผลการวิจัย พบว่า 1. แนวโน้มการบริหารตามภารกิจมหาวิทยาลัยของรัฐในภาคตะวันออกสู่ประชาคม อาเซียนในทศวรรษหน้า มี 4 ด้าน จำนวน 60 ข้อ ได้แก่ 1) ด้านการผลิตบัณฑิต 18 ข้อ 2) ด้านการวิจัย 18 ข้อ 3) ด้านบริการวิชาการแก่สังคมและชุมชน 13 ข้อ 4) ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 11 ข้อ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นสอดคล้องกันว่า มีความสำคัญค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ทุกข้อ 2. การตรวจสอบทิศทางการบริหารตามภารกิจมหาวิทยาลัยของรัฐในภาคตะวันออก สู่ประชาคมอาเซียนในทศวรรษหน้าผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน ทั้ง 4 ด้าน มีความเป็นไปได้ในระดับมากสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยเรียงอันดับจากค่าเฉลี่ยมากไปน้อย ตามอันดับดังนี้ 1) ด้านการวิจัยโดยการเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศในศาสตร์ (Center of excellent) ในภาคตะวันออกที่สร้างงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อพัฒนาพื้นที่ ภาคตะวันออกมากขึ้น และมีความร่วมมือด้านงานวิจัยร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนในรูปแบบใหม่เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและนวัตกรรมใหม่รวมถึงมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้มุ่งเน้นการวิจัย 2) ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตกับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยมีระบบฐานข้อมูลอิเล็คทรอนิคส์เผยแพร่สื่อวัฒนธรรมที่เข้าถึงสื่อได้ง่ายและเป็นระบบทั้งในพื้นที่และต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยของรัฐในภาคตะวันออก มีเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจน 3) ด้านบริการวิชาการแก่สังคมและชุมชน ระบบ การบริการวิชาการที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียน มีศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนในภาคตะวันออกและเกิดเครือข่ายวิชาการที่แพร่หลายทั้งในประเทศและครอบคลุมอาเซียนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางศึกษารวบรวมองค์ความรู้ด้านศาสตร์ต่าง ๆ โดยรวบรวมจากในประเทศและต่างประเทศ 4) ด้านการผลิตบัณฑิต มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาการถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ มีกลไก ในการคัดเลือกผู้เรียนที่ได้มาตรฐานและมีหลักสูตรเฉพาะทางตรงความต้องการของสังคมอาเซียน และการพัฒนาบัณฑิตที่มีความสามารถพิเศษเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่ภาคตะวันออก