Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ของค่าพารามิเตอร์ข้อสอบ (อำนาจจำแนก ความยาก การเดา) และพารามิเตอร์ความสามารถผู้สอบระหว่างการประมาณค่าตามโมเดลทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ (IRT) และการประมาณค่าตามโมเดลทฤษฎีการตอบสนองเทสต์เลท (TRT) 2) เปรียบเทียบความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของค่าพารามิเตอร์ข้อสอบและพารามิเตอร์ความสามารถผู้สอบที่ประมาณค่าตามโมเดล IRT และโมเดล TRT และ 3) เปรียบเทียบประสิทธิผลการเชื่อมโยงคะแนนจริงด้วยวิธีโค้งคุณลักษณะแบบสอบ(TS IRT, TS TRT) และ การเชื่อมโยงคะแนนสังเกตได้ด้วยวิธีอิควิเปอร์เซ็นต์ไทล์ (OS IRT, OS TRT) ใช้คะแนนจาก การสอบ O-NET ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,500 คน ในวิชาภาษาไทยและวิชาภาษาอังกฤษ จากนั้นวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน เปรียบเทียบด้วยสถิติ Paired t-test และเปรียบเทียบประสิทธิผลการเชื่อมโยงจากค่า bias SEE และ RMSE ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. ค่าพารามิเตอร์ข้อสอบ (อำนาจจำแนก ความยาก การเดา) ระหว่างวิธีการประมาณค่าตามโมเดล IRT และโมเดล TRT มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ทั้งในวิชาภาษาไทยและวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนพารามิเตอร์ความสามารถผู้สอบพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ในวิชาภาษาอังกฤษ 2. ความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของค่าพารามิเตอร์ข้อสอบ (อำนาจจำแนก ความยาก การเดา) และค่าพารามิเตอร์ความสามารถของผู้สอบที่ประมาณค่าตามโมเดล IRT และโมเดล TRT แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ในวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาภาษาไทยพบว่าค่าพารามิเตอร์ยากเท่านั้นที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 3. ประสิทธิผลของการเชื่อมโยงพบว่า ค่า bias น้อยที่สุดเมื่อเชื่อมโยงคะแนนด้วยวิธี OS TRT ค่า SEE น้อยที่สุดเมื่อเชื่อมโยงด้วยวิธี OS TRT และค่า RMSE น้อยที่สุดเมื่อเชื่อมโยงด้วยวิธี TS TRT