Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำของผู้บริหารกับความสุขในการทำงานของครูผู้สอนในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหาร ครูผู้สอน และบุคลากรในกลุ่มโรงเรียน บางละมุง 1 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 จำนวน 119 คน ได้มาจาก การสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบสอบถามแบบ Rating scale 5 ระดับ จำนวน 40 ข้อ ดังนี้ ตอนที่ 1 เกี่ยวกับภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนตามแนวคิด วิถีทางเป้าหมาย ของ House and Mitchell (1974) ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .20-.79 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ อยู่ที่ระดับ .90 ตอนที่ 2 เกี่ยวกับความสุขในการทำงานของครูผู้สอน ตามแนวคิดของ Manion (2003) ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .27-.75 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับที่ระดับ .91 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Xˉ ) ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation coefficient) แบบเพียร์สัน (Pearson’s product-moment correlation coefficient) ผลการวิจัย พบว่า 1. ภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 โดยรวมและรายด้านค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด 2. ความสุขในการทำงานของครูผู้สอนในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 โดยรวมและรายด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด 3. ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษากับความสุขในการทำงานของครูผู้สอนในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 มีความสัมพันธ์กันทางบวกในระดับสูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01