Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการบริหารจัดการความขัดแย้ง ศึกษาระดับประสิทธิภาพการทำงาน และเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารจัดการความขัดแย้งกับประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหารโรงเรียนตามทัศนคติของครู อำเภอองครักษ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูในโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอองครักษ์ สังกัดสำนักงาน เขต พื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก จำนวน 162 คน โดยเทียบจำนวนประชากรกับกลุ่มตัวอย่าง ตามตารางการกำหนดขนาดของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, p. 607) เครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ได้ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง .25-.70 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .91 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s product moment correlation) ผลการวิจัย พบว่า 1. การบริหารความขัดแย้งของผู้บริหารสถานศึกษา อำเภอองครักษ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมาก ไปหาน้อย ตามลำดับ ดังนี้ ด้านการประนีประนอม ด้านการเอาชนะ และด้านการร่วมมือ 2. ประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหารสถานศึกษาอำเภอองครักษ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก เมื่อพิจารณาโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ย จากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก คือ ด้านความสามารถในการผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง ด้านความสามารถในการแก้ปัญหาภายในโรงเรียน และด้านความสามารถในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียน 3. ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารจัดการความขัดแย้งของผู้บริหารสถานศึกษากับประสิทธิภาพการทำงาน ตามทัศนคติของครูอำเภอองครักษ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก ในด้านต่าง ๆ พบว่า มีความสัมพันธ์กันปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05