Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนา การบริหารงานวิชาการ ของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 132 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นแบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบ มาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ จำนวนทั้งหมด 34 ข้อ ค่าอำนาจจำแนกรายข้อของแบบสอบถามมีค่าอยู่ระหว่าง .23 - .75 และค่าความเชื่อมันของแบบสอบถามทั้งฉบับ .92 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ คะแนนเฉลี่ย ( ) ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) เมื่อพบความแตกต่างทำการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีของเชฟเฟ่ (Scheffe’s method) ผลการวิจัย พบว่า 1. ผลการวิเคราะห์การศึกษาปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง 2. ปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 จำแนกตามเพศของครูผู้สอนทั้งโดยรวม และรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ 3. ปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 จำแนกตามรูปแบบการจัดชั้นเรียนทั้งโดยรวม และรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ 4. ปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 จำแนกตามประสบการณ์การทำงาน พบว่าโดยรวมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณารายด้านพบว่าด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และด้านการวัดผล ประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. ข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 พบว่าด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ประชุมวางแผนร่วมกันระหว่างผู้บริหารครูและคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา จากวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายและเป้าประสงค์ของสถานศึกษา ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ จัดอบรมครู เกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แก่ครูผู้สอนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ด้านการวัดผล ประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ได้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีและขั้นตอนการวัดและประเมินผล ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา จัดอบรมครูเกี่ยวกับการวิจัยเพื่อคุณภาพการศึกษาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยี จัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็นในการใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อจัดการเรียนการสอน