Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณลักษณะของครูผู้สอนนักเรียน ที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ระดับประถมศึกษา ตามความต้องการ ของครูผู้สอนและผู้ปกครอง 2) วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน คุณลักษณะของครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ระดับประถมศึกษา และ 3) เพื่อศึกษาแนวทาง การพัฒนาคุณลักษณะของครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ระดับประถมศึกษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงผสมผสานระหว่างวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ และวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มตัวอย่างวิจัย เชิงปริมาณ ได้แก่ ครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ จำนวน 228 คน ผู้ปกครองนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 153 คน และผู้ปกครองนักเรียนปกติที่เรียนร่วมกับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 188 คน รวมทั้งสิ้น 569 คน กลุ่มที่ 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 10 คน ได้แก่ ครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ จำนวน 4 คน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับ ที่ผู้วิจัย สร้างขึ้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ โดยใช้สถิติพื้นฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรสังเกตได้ และใช้โปรแกรม Lisrel 8.72 วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับ ที่สอง การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคล และวิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1. คุณลักษณะของครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ระดับประถมศึกษา ตามความต้องการของครูผู้สอนและผู้ปกครอง มี 5 องค์ประกอบ 54 ตัวแปรสังเกตได้ ประกอบด้วย 1) องค์ประกอบด้านคุณธรรมจริยธรรม ตัวแปรสังเกตได้ที่มีค่ามากที่สุด คือ เป็นแบบอย่างที่ดีต่อศิษย์และสังคม 2) องค์ประกอบด้านบุคลิกภาพและอารมณ์ ตัวแปรสังเกตได้ ที่มีค่ามากที่สุด คือ มีความเข้าใจอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ 3) องค์ประกอบด้านจัดการเรียนการสอน ตัวแปรสังเกตได้ที่มีค่ามากที่สุด คือ มีความตั้งใจ ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน 4) องค์ประกอบด้านความรู้ความสามารถ ตัวแปรสังเกตได้ ที่มีค่ามากที่สุด คือ มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ 5) องค์ประกอบด้านความสำเร็จในการเรียนร่วม ตัวแปรสังเกตได้ที่มีค่ามากที่สุด คือ สามารถ ทำให้นักเรียนปกติไม่ดูหมิ่นหรือเยาะเย้ย นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ 2. โมเดลองค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สองของคุณลักษณะของครูผู้สอนนักเรียน ที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ระดับประถมศึกษา พบว่า โมเดลประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ 54 ตัวแปรสังเกตได้ ได้แก่ 1) องค์ประกอบด้านคุณธรรมจริยธรรม 2) องค์ประกอบด้านบุคลิกภาพและอารมณ์ 3) องค์ประกอบด้านจัดการเรียนการสอน 4) องค์ประกอบด้านความรู้ความสามารถ และ 5) องค์ประกอบด้านความสำเร็จในการเรียนร่วม โดยโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ อยู่ในเกณฑ์ดี ผลการทดสอบค่าไค-สแควร์ (X2) มีค่าเท่ากับ 2207.74 ค่า p-value มีค่าเท่ากับ 0.00000 ที่องศาอิสระ (df) มีค่าเท่ากับ 1259 ค่าไค-สแควร์สัมพัทธ์ (X2/ df ) มีค่าเท่ากับ 1.75 ดัชนีวัดระดับความสอดคล้องเปรียบเทียบ (CFI) มีค่าเท่ากับ 1.00 ค่าดัชนี รากที่สองของค่าเฉลี่ยความคลาดเคลื่อนของการประมาณค่า (RMSEA) มีค่าเท่ากับ 0.036 3. แนวทางการพัฒนาคุณลักษณะของครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ระดับประถมศึกษา มีดังนี้ 1) สถาบันผลิตครู ควรสร้างความตระหนัก และปลูกฝังค่านิยมในการทำงานด้วยความรัก และมีความสุขกับการจัดการเรียนการสอน แบบเรียนร่วม อีกทั้งควรมีหลักสูตรด้านการศึกษาพิเศษที่มีประสิทธิภาพให้กับนิสิต/ นักศึกษาครูทุกสาขา และควรส่งเสริมให้มีการผลิตครูด้านการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะมากขึ้น 2) ด้านโรงเรียน ที่ครูผู้สอนทำการสอน ผู้บริหารควรให้การสนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบเรียนร่วม และให้ความเข้าใจถึงเป้าหมายของความสำเร็จของการเรียนร่วมให้กับครูทั้งโรงเรียน พร้อมทั้งสนับสนุน สร้างขวัญ กำลังใจให้กับครูที่สอนการเรียนร่วม โดยการพิจารณาภาระงานหรือขั้น หรือเงินสนับสนุน 3) ควรสร้างความตระหนักและส่งเสริมครูผู้สอนให้เกิด การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบเรียนร่วม เช่น จัดอบรมให้ความรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่งไปศึกษาดูงาน มีการนิเทศติดตาม ให้คำชมเชย ยกย่อง หรือรางวัลแก่ครูผู้เป็นแบบอย่างที่ดี ในด้านการสอนแบบเรียนร่วม พร้อมทั้งพัฒนาระบบการทำเอกสารแผนการสอน เอกสารการของบประมาณให้สะดวกมากขึ้น