Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนาโมเดลการวัดความเอื้ออาทรของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 2) ทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลการวัดความเอื้ออาทรของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เมื่อจำแนกตามเพศของนักเรียน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา จังหวัดสมุทรปราการ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 615 คนเครื่องมือที่ใช้ใน การวิจัย คือ แบบวัดความเอื้ออาทรของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์หาค่าสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ความเที่ยงตรงของโมเดลการวัด การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ ( EFA) และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (CFA) ผลการศึกษา พบว่า 1. โมเดลการวัดความเอื้ออาทรของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโมเดลการวัดความเอื้ออาทรทั้ง 5 องค์ประกอบ คือ ความกังวล ต้นทุน ประโยชน์ต่อผู้รับ ความรู้สึกร่วม และความสะดวกต่อการหลบหลีก มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยดัชนีมีค่าดังนี้ Chi-square = 701.31 (p-value เท่ากับ 0.00), df = 225, Chi-square/ df = 3.117, SRMR = 0.053, RMSEA = 0.059, CFI = 0.955, GFI = 0.910 และ AGFI = 0.889 ในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินความสอดคล้อง และจากการตรวจสอบคุณภาพของโมเดลการวัดความเอื้ออาทร พบว่า ค่าน้ำหนักองค์ประกอบ มีค่าอยู่ระหว่าง 0.646-0.990 ความเที่ยงเชิงโครงสร้าง มีค่าเท่ากับ 0.936 (> 0.60) และความแปรปรวนเฉลี่ยที่สกัด มีค่าเท่ากับ 0.750 (> 0.50) อธิบายได้ว่า ชุดตัวแปรสังเกตมีความสอดคล้องภายใน และมีความเที่ยงตรงเชิงรวม บ่งบอกถึงโมเดลการวัดความเอื้ออาทรที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพ และสามารถที่จะนำโมเดลการวัดความเอื้ออาทรที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นไปใช้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาได้ 2. โมเดลการวัดความเอื้ออาทรของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาไม่แปรเปลี่ยนตามกลุ่มเพศ กล่าวคือ เพศชาย และเพศหญิง สามารถใช้โมเดลการวัดความเอื้ออาทรนี้ร่วมกันได้ โดยดัชนีที่นำมาพิจารณามีค่าดังนี้ Chi-square = 678.71 (p-value เท่ากับ 0.00), df = 427, Chi-square/ df = 1.589, RMSEA = 0.044, CFI = 0.973, SRMR กลุ่มเพศชาย = 0.051, SRMR กลุ่มเพศหญิง = 0.051, GFI กลุ่มเพศชาย = 0.911 และ GFI กลุ่มเพศหญิง = 0.914 ซึ่งในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน ความสอดคล้อง และพบว่า ค่าพารามิเตอร์ส่วนใหญ่ในโมเดลไม่แปรเปลี่ยนระหว่างกลุ่ม