Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเพื่อประเมิน ความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัย 5 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของเทศบาลในภาคตะวันออก โดยการวิเคราะห์เอกสาร (Documentary analysis) 2) การสร้างเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลและการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อร่างรูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐาน ของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยใช้แบบสอบถามจากนายกเทศมนตรีและรองนายก เทศมนตรีของเทศบาลในภาคตะวันออก จำนวน 254 คน จำแนกเป็นนายกเทศมนตรี 80 คน และรองนายกเทศมนตรี 174 คน ซึ่งใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) ตามเทศบาลต่าง ๆ ในภาคตะวันออก 3) การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory factor analysis: CFA) 4) การประเมิน ความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ คือ นายกเทศมนตรีเทศบาลในภาคตะวันออก จำนวน 17 คน ซึ่งเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) และ 5) การสรุปรูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ผลการวิจัย พบว่า 1. รูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบด้วย 21 องค์ประกอบภายใต้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 10 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านหลักประสิทธิภาพ มี 2 องค์ประกอบ คือ ใช้ทรัพยากร อย่างประหยัด ลดขั้นตอนและระยะเวลาปฏิบัติงาน 2) ด้านหลักประสิทธิผล มี 4 องค์ประกอบ คือ มีวิสัยทัศน์ ปฏิบัติตามพันธกิจ มีการจัดการความเสี่ยง ติดตามประเมินผลและพัฒนา ปรับปรุงงาน 3) ด้านหลักการตอบสนอง มี 2 องค์ประกอบ คือ บริการอย่างมีคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ 4) ด้านหลักภาระรับผิดชอบ มี 2 องค์ประกอบ คือ รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีระบบติดตามและประเมินผล 5) ด้านหลักความโปร่งใส มี 3 องค์ประกอบ คือ เปิดเผยข้อมูลครบถ้วน ฟังความคิดเห็นจากทุกด้าน และตรวจสอบได้ 6) ด้านหลักนิติธรรม มี 2 องค์ประกอบ คือ ออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติ 7) ด้านหลักความเสมอภาค มี 1 องค์ประกอบ คือ ให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน 8) ด้านหลักการมีส่วนร่วม มี 2 องค์ประกอบ คือ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเปิดโอกาสให้บุคลากรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมทางการบริหารจัดการ 9) ด้านหลักการกระจายอำนาจ มี 1 องค์ประกอบ คือ มอบอำนาจการบริหารและตัดสินใจ และ 10) ด้านหลักคุณธรรม มี 2 องค์ประกอบ คือ ความถูกต้องดีงาม และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง 2. ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการเทศบาลของผู้บริหารเทศบาลในภาคตะวันออก บนพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีความถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ละองค์ประกอบทั้ง 10 ด้าน มีค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด