Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาปฐมวัย ของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 จำแนกตามประสบการณ์สอน วิชาเอกที่สำเร็จการศึกษาและขนาดโรงเรียน และศึกษาความต้องการของครูในการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนระดับปฐมวัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 จำนวน 162 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนกของแบบสอบถามระหว่าง .23-.90 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .98 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และทดสอบรายคู่โดยวิธี Sheffe’s test ผลการวิจัย พบว่า 1. การศึกษาปัญหาการจัดการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง 2. เปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 จำแนกตามประสบการณ์การสอน วิชาเอกที่สำเร็จการศึกษา โดยรวม แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จำแนกตามขนาดของโรงเรียน โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ความต้องการของครูในการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ควรจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับความต้องการตามวัยและพัฒนาการเด็ก 2) ควรจัดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 20-25 คน ต่อครู 1 คน เพื่อที่จะได้ดูแลทั่วถึง 3) ควรส่งเสริมกระบวนการสังเกต การฟัง การตั้งคำถาม การกล้าแสดงออก 4) ควรจัดกิจกรรมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 5) ผู้สอนควรประเมินพัฒนาการเด็กให้ครบทุกด้าน 6) ผู้สอนและผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาเด็ก