Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวที่มีบุตรติดเกมออนไลน์ 2) พัฒนารูปแบบการปรึกษาครอบครัวเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวที่มีบุตร ติดเกมออนไลน์ 3) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการปรึกษาครอบครัวเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวที่มีบุตรติดเกมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ และบุตร ซึ่งบุตรมีอายุอยู่ระหว่าง 11-15 ปี ที่มีภูมิลำเนาในเขตภาคเหนือตอนบน แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน กลุ่มตัวอย่างในขั้นตอนที่ 1 ที่ใช้ในการศึกษาการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว จำนวน 400 ครอบครัว ได้มาจากการใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน กลุ่มตัวอย่างในขั้นตอนที่สอง จำนวน 20 ครอบครัว สุ่มอย่างง่ายแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 ครอบครัว กลุ่มทดลองได้รับ การเสริมสร้างการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวโดยการใช้รูปแบบการปรึกษาครอบครัวเชิงกลยุทธ์ เครื่องมือ ที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวที่มีบุตรติดเกมออนไลน์ มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.98 และรูปแบบการปรึกษาครอบครัวเชิงกลยุทธ์ เป็นการให้การปรึกษาครอบครัว จำนวน 10 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่ 2 และสถิติทดสอบ ความแปรปรวนแบบมีการวัดซ้ำ ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้ 1. การปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = 2.72, SD = 1.10) องค์ประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวในทุกด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านการสื่อสารมีค่าเฉลี่ยสูงสุด เท่ากับ 2.86 รองลงมา คือ ด้านความผูกพันทางอารมณ์ ด้านการตอบสนองทางอารมณ์ ด้านบทบาท ด้านการควบคุมพฤติกรรม และด้านการแก้ไขปัญหา ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.80, 2.79, 2.67, 2.66 และ2.53 ตามลำดับ 2. รูปแบบการปรึกษาครอบครัวเชิงกลยุทธ์เพื่อการเสริมสร้างการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว ที่มีบุตรติดเกมออนไลน์ พัฒนาจากแนวคิดทฤษฎีและเทคนิคต่าง ๆ ของทฤษฎีการปรึกษาครอบครัว เชิงกลยุทธ์ โดยขั้นตอนการปรึกษาประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นนำ ขั้นดำเนินการ และขั้นสรุป 3. การปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวกลุ่มทดลอง หลังการเข้าร่วมการให้การปรึกษาครอบครัวเชิงกลยุทธ์และเมื่อสิ้นสุดการติดตามผลสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 4. การปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวกลุ่มทดลอง หลังการเข้าร่วมการให้การปรึกษาครอบครัว เชิงกลยุทธ์และเมื่อสิ้นสุดการติดตามผลสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05