Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพการวิจัยของบุคลากรครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรครูโรงเรียน ในสังกัดเมืองพัทยาด้านการวิจัยด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และ 3) เพื่อประเมินรูปแบบการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยาด้านการวิจัยด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ แบบมีส่วนร่วม การดำเนินการแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพการวิจัยของบุคลากรครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา จำนวน 231 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและพัฒนารูปแบบ โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เต็มใจให้ข้อมูล จำนวน 14 ท่าน ขั้นตอนที่ 3 การประเมินรูปแบบ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 17 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสนทนากลุ่ม แบบประเมินรูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดัชนีความต้องการ (PNI) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวน (One-way ANOVA) การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) และการวิเคราะห์ค่ามัธยฐาน (Median) ค่าพิสัยระหว่างควอร์ไทล์ (Interquartile range) ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้ 1. สภาพความรู้ของบุคลากรครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยาส่วนมากมีระดับคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 มีทัศนคติต่อการวิจัยอยู่ในระดับมาก มีระดับปฏิบัติการวิจัยอยู่ในระดับปานกลาง มีระดับที่คาดหวังด้านการวิจัยอยู่ในระดับมากที่สุด มีความต้องการด้านการพัฒนาศักยภาพการวิจัยมากที่สุด และมีความรู้ ทัศนคติ และสภาพปฏิบัติการวิจัยแตกต่างกันตามสภาพส่วนบุคลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 2. รูปแบบการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยาด้านการวิจัย ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีองค์ประกอบ 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นร่วมวางแผนเตรียมการ (Plan) 2) ขั้นร่วมสร้างกิจกรรมพัฒนา (Action and observe) 3) ขั้นร่วมติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุง (Reflect) 4) การสนับสนุนปัจจัยที่บุคลากรครูต้องการด้านการวิจัยจาก ต้นสังกัดทุกขั้นตอน (Input) 3. รูปแบบการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยาด้านการวิจัย ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีความสอดคล้องในด้านความเป็นประโยชน์ ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด