Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัญหาการมีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนประถมศึกษา อำเภอเขาสมิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด จำแนกตามเพศ ประสบการณ์ในการสอน และขนาดโรงเรียน และศึกษาแนวทางพัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนประถมศึกษา อำเภอเขาสมิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด กำหนดขนาด กลุ่มตัวอย่างจากตารางของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, pp. 608-610) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 159 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) ตามขนาดของโรงเรียน และสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) ตามสัดส่วน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ตามวิธีของลิเคิร์ท (Likert) มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .42-.76 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการทดสอบความแตกต่างรายคู่ โดยใช้วิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe´s method) ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัญหาและแนวทางพัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการโรงเรียนประถมศึกษา ในอำเภอเขาสมิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง 2. การเปรียบเทียบปัญหาการมีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอเขาสมิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด จำแนกตามเพศ และประสบการณ์ ในการสอน โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. การเปรียบเทียบปัญหาการมีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอเขาสมิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด จำแนกตามขนาดโรงเรียน โดยรวม และรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. แนวทางพัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอเขาสมิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด พบว่า ด้านพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ผู้บริหารควรสร้าง พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการของท้องถิ่น ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ผู้บริหารควรส่งเสริมให้ครูใช้วิธีการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้านการวัดผล ประเมินผล และเทียบโอนผลการเรียน ผู้บริหารควรจัดให้มีการวัดผล ประเมินผลอย่างเป็นระบบ และด้านการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ผู้บริหารควรส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมในการจัดระบบองค์กรให้รองรับการประเมิน