Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จำแนกตามเพศ ระดับการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ บุคลากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ ได้จากการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling)) โดยใช้ระดับการศึกษาเป็นชั้นในการสุ่ม จำนวน 200 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา ลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 35 ข้อ โดยมีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .20 - .91 และค่าความเชื่อมั่น .97 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และการทดสอบรายคู่ด้วยวิธีการเชฟเฟ่ (Sheffe’s method) ผลการวิจัยพบว่า 1. การมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของบุคลากรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า การบริการวิชาการ อยู่ในระดับมาก รองลงมา ได้แก่ การวิจัย การผลิตบัณฑิต การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และการบริหารจัดการ อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ 2. เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมในการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จำแนกตามเพศ พบว่า ทั้งโดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ทั้งโดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้น ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยบุคลากรที่มีระดับการศึกษาปริญญาเอก มีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษามากกว่าระดับปริญญาโทและปริญญาตรี ตามลำดับ 4. เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จำแนกตามประสบการณ์ทำงาน พบว่า ทั้งโดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น ด้านการบริการวิชาการ ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยบุคลากรที่มีประสบการณ์ทำงาน 7 ปี ขึ้นไปมีส่วนร่วมมากกว่าบุคลากรที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า 3 ปี และ 3-6 ปี ตามลำดับ