Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) ศึกษาความฉลาดทางเพศของนักศึกษาปริญญาตรี 2) สร้างรูปแบบการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาความฉลาดทางเพศของนักศึกษาปริญญาตรี 3) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาความฉลาดทางเพศของนักศึกษาปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษาปริญญาตรีที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 2 ในมหาวิทยาลัย ภาคตะวันออก แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกที่ใช้ในการศึกษาองค์ประกอบของความฉลาดทางเพศเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 2 จำนวน 914 คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ 2 เป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 2 คัดเลือกจากนักศึกษาที่มีคะแนนความฉลาดทางเพศตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 50 ลงมา จำนวน 20 คน สุ่มอย่างง่ายแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน กลุ่มทดลองได้รับรูปแบบการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาความฉลาดทางเพศ ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับรูปแบบการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันความฉลาดทางเพศของนักศึกษาปริญญาตรี พบว่าโมเดลการวิเคราะห์องค์ประกอบยืนยันความฉลาดทางเพศประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การตระหนักรู้เรื่องเพศ การเรียนรู้เรื่องเพศ และการจัดการเรื่องเพศ มีค่าความเหมาะสมพอดีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีน้ำหนักองค์ประกอบอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 และสามารถวัดองค์ประกอบของความฉลาดทางเพศได้ 2. รูปแบบการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาความฉลาดทางเพศของนักศึกษาปริญญาตรีประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นนำ ขั้นดำเนินการและขั้นสรุป โดยมีการประยุกต์แนวคิดทฤษฎีและเทคนิคการปรึกษามาใช้ในการพัฒนาความฉลาดทางเพศของนักศึกษาปริญญาตรี 3. ความฉลาดทางเพศโดยรวมและรายองค์ประกอบของกลุ่มทดลองที่เข้าร่วมการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการ ก่อนการทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามผลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่ารูปแบบการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการมีผลให้ความฉลาดทางเพศของนักศึกษา ปริญญาตรีเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น 4. ความฉลาดทางเพศโดยรวมและรายองค์ประกอบของกลุ่มทดลองที่ได้รับการปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการและกลุ่มควบคุม ก่อนการทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามผลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01