Abstract:
การวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษากับแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนในสหวิทยาเขต ชลบุรี 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูโรงเรียนในสหวิทยาเขต ชลบุรี 2 ปีการศึกษา 2559 ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง โดยการเทียบจากตารางของ Krejcie and Morgan (1970, p. 607) ได้กลุ่มตัวอย่าง 212 คน เครื่องมือที่ใช้ลักษณะเป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 สอบถามความคิดเห็นของครูเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนในสหวิทยาเขต ชลบุรี 2 จำนวน 33 ข้อ มีอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .30-.76 และค่าความเชื่อมั่น .94 ตอนที่ 2 เกี่ยวกับแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครูโรงเรียนในสหวิทยาเขต ชลบุรี 2 จำนวน 49 ข้อ โดยมีอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .31-.85 และค่าความเชื่อมั่น .97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และวิเคราะห์โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s product moment correlation coefficient) ผลการศึกษา พบว่า 1. ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนในสหวิทยาเขต ชลบุรี 2 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านการมีอิทธิพลเชิงอุดมคติ ด้านการกระตุ้นทางปัญญา ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ และด้านการมุ่งความสัมพันธ์เป็นรายบุคคล ตามลำดับ 2. แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครู โรงเรียนในสหวิทยาเขต ชลบุรี 2 ปัจจัยจูงใจ โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านความสำเร็จของงานด้านความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ด้านลักษณะงานที่ปฏิบัติ ด้านการได้รับการยอมรับนับถือ และด้านความรับผิดชอบ ตามลำดับ ปัจจัยค้ำจุน โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านเงินเดือน ด้านนโยบายและการบริหาร ด้านสภาพการทำงาน ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น และด้านการปกครองบังคับบัญชา ตามลำดับ 3. ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษากับแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครู โรงเรียนในสหวิทยาเขต ชลบุรี 2 ด้านปัจจัยจูงใจ โดยรวมมีความสัมพันธ์กันทางบวกในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .05 ด้านปัจจัยค้ำจุน โดยรวมมีความสัมพันธ์กันทางบวก ในระดับค่อนข้างต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .05