Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมั่งหมายเพื่อศึกษา เปรียบเทียบทัศนคติ และทดสอบความสัมพันธ์ระหว่าง ทัศนคติกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ (เอกมัย)-บางแสน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย คือ ผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ (เอกมัย)-บางแสน จำนวน 250 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F-test) และการทดสอบไคสแควร์
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนใหญ๋มีอายุระหว่าง 20-29 ปี มีสถานภาพโสด ระดับการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี มีอาชีพนักเรียน/นักศึกษารายได้ต่อเดือน ต่ำกว่า 10,000 บาท สำหรับพฤติกรรมการใช้บริการรถตู้โดยสาร พบว่า เหตุผลที่เลือกใช้บริการรถตู้โดยส่วนใหญ่ คือ ความสะดวกในการเดินทาง ส่วนใหญ่มีจุดประสงค์ในการเดินทาง คือ กลับบ้าน ช่วงเวลาที่ใช้รถตู้โดยสารมากที่สุด คือ 16.00-18.59 น. ระยะเวลาที่รอคอยรถตู้โดยสารประมาณ 16-30 นาที ความถี่ที่ใช้บริการ คือ 2 ครั้ง/เดือน มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการรถตู้โดยสารต่อเดือน คือ 1-250 บาท และต้องการใช้บริการรถตู้โดยสารต่อไป กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นด้านความปลอดภัยในการใช้บริการที่กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติอยู่ในระดับไม่ดี
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ต่อเดือนที่ต่างกันมีทัศนคติต่อการใช้บริการรถตู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ (เอกมัย)-บางแสน ไม่แตกต่างกัน ส่วนระดับทัศนคติของผ็ใช้บริการรถตู้โดยสารมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้บริการรถตู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ (เอกมัย)-บางแสน ด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถตู้โดยสารและด้านช่วงเวลาในการเดินทาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05