Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงด้านเกษตรธรรมชาติ รวมถึงการจัดการความรู้เศรษฐกิจแบบพอเพียงด้านเกษตรธรมมชาติของศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) คือ เจ้าหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ฯ จำนวน20 คน ทำการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อมูลแบบสามเส้าและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาผ(Content analysis) ผลการศึกษามีดังนี้
1. สภาพการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ฯ พบว่า มีการดำเนินงานโดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ โดยเฉพาะเรื่องของเกษตรธรรมชาติทั้ง 5 กลุ่มงาน คือการปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตปุ๋ยและสารไล่แมลง การเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะและผลิตปุ๋ย การปลูกผักแบบเกษตรธรรมชาติ และการเก็บเม็ดพันธุ์เกษตรธรรมชาติ ทำให้บุคลากรภายในศูนย์มีความรู้เพิ่มขึ้นและเกิดการเรียนรู้
2. การจัดการความรู้ด้านเกษตรธรรมชาติของบุคลากรภายในศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ฯ พบว่าบุคลากรภายในศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ฯ มีเป้าหมายของการจัดการความรู้ คือ การพัฒนาคน การพัฒนางานและการพัฒนาองค์การ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งภายใน การอบรมจากครู รุ่นพี่สอนงานรุ่นน้อง และภายนอกศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ฯ การออกไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ การพูดคุยซักถามกับคณะที่เข้ามาศึกษาดูงานมีการรวบรวมความรู้ในรูปแบบการจดจำ การจดบันทึก และมีการสร้างความรู้จากตัวเองและผู้อื่น
3. ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาครั้งนี้คือ 1) ควรกำหนดให้การจัดการความรู้(KM) เป็นหนึ่งในนโยบายของหน่วยงาน โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจนรวมถึงมีการติดตาม ประมวลผลอย่างเป็นรูปธรรม และควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรทั้งภายในและภายนอกศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ฯ เพื่อการเพิ่มพูนความรู้และส่งเสริมให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้ผู้ที่ไม่เข้าใจการจัดการความรู้สามรถเรียนรู้และเข้าใจวิธีการได้อย่างทั่วถึง 2)จัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้(KM) แก่บุคลากรภายในศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ฯ เพื่อให้เห็นความสำคัญและนำไปปฏิบัติในหน่วยงานอย่างจริงจังและสร้างความเข้าใจ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เรื่องการจัดการความรู้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง