Abstract:
การส่งเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่ต่ำสุด และได้ประโยชน์มาก ทั้งต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคม รวมทั้งช่วยลดภาระของรัฐในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก จบแล้วต้องไปทำงานเป็นบุคลากรสุขภาพ เป็นตัวแบบในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้ประชาชน การศึกษาครั้งนี้จึงต้องหาความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจในการสร้างเสริมสุขภาพกับการออกกำลังกายของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษา 176 คน ที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 1-4 ทั้งสามหลักสูตรของวิทยาลัย ข้อมูลถูกเก็บภายในห้องเรียนด้วยแบบสอบถาม และวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงบรรยายและสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาส่วนมากเป็นนักศึกษาหญิง (76.1%) ศึกษาในหลักสูตรเวชระเบียน (55.1%) รองลงมาเป็นหลักสูตรการแพทย์แผนไทย (34.1%) และหลักสูตรโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ (10.8%) เรียนชั้นปีที่ 1 จำนวนมากสุด (39.8%) ชั้นปีที่ 2 รองลงมา (30.1%) ที่เหลือเรียนชั้นปีที่ 3 (15.9%) และชั้นปีที่ 4 (14.2%) เคยเป็นนักกีฬา (35.8%) และมีดัชนีมวลกายท้วม (19.9%) นักศึกษามีแรงจูงใจในการสร้างเสริมสุขภาพระดับปานกลาง ( = 108.2, SD = 12.9, % = 67.6) โดยด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยมากที่สุดคือรับรู้ความรุนแรง ( = 28.3, SD = 3.7, % = 70.7) รองลงมาคือ ความคาดหวังผลลัพธ์ ( = 27.0, SD = 4.3, % = 67.5) ความคาดหวังความสามารถ ( = 26.6, SD = 4.2, % = 66.5) และรับรู้โอกาสเสี่ยง ( = 26.4, SD = 3.6, % = 66.0) การออกกำลังกายสัมพันธ์เชิงบวกกับแรงจูงใจในการสร้างเสริมสุขภาพโดยรวม (r = 0.173, p = .022) เมื่อแยกรายด้านพบว่า การออกกำลังกายสัมพันธ์เชิงบวกกับความคาดหวัง ในผลลัพธ์ (r = 0.238, p = .001) ความคาดหวังความสามารถ (r = 0.162, p = .032) และ การเคยเป็นนักกีฬา (r = 0.201, p = .008) ฉะนั้นจึงควรส่งเสริมให้นักศึกษาออกกำลังกายด้วยการเพิ่มแรงจูงใจในการส่งเสริมสุขภาพให้มากขึ้น