Abstract:
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน แต่เป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนและหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมข่วนและกัด แต่ประชาชนยังไม่ตระหนักในการป้องกัน จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนตระหนัก และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงต้องการหาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมตามแผนกับพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองปากน้ำสมุทรปราการ ตำบลบางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชน 200 คน ที่เลี้ยงสุนัขและขึ้นทะเบียนสุนัขกับเทศบาลปี 2559 ซึ่งสุ่มมาด้วยวิธีการสุ่มแบบเป็นระบบ ข้อมูลเก็บด้วยการส่งแบบสอบถามให้ตอบที่บ้าน ในวันรณรงค์ช่วงเดือนมีนาคม 2560 และวิเคราะห์ด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษา พบว่า ประชาชนส่วนมาก (61.5%) เป็นผู้หญิงอายุเฉลี่ย 44.2 ± 13.3 ปีส่วนมาก (67.0%) จบสูงสุดไม่เกินมัธยมปลาย มีอาชีพรับจ้างทั่วไปหรือพนักงานบริษัท (52.5%) มีฐานะเศรษฐกิจครอบครัวพอ ๆ กัน (80.0%) เลี้ยงสุนัขเฉลี่ย 2.1±1.6 ตัวต่อครอบครัว คนในบ้านเคยถูกสุนัขกัด (55.5%) มีพฤติกรรมตามแผนเฉลี่ยร้อยละ 73.3 มีเจตคติที่ดีร้อยละ 76.7 การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงเฉลี่ยร้อยละ 73.2 รับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรมเฉลี่ยร้อยละ 71.6 มีพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยรวมเฉลี่ยร้อยละ 79.3 ลดเสี่ยงสุนัขกัดมากสุด รองลงมาพาสุนัขไปฉีดวัคซีน และป้องกันหลังถูกสุนัขกัด เฉลี่ยร้อยละ 84.6 81.8 และเฉลี่ยร้อยละ 62.5 ตามลำดับ พฤติกรรมตามแผน เจตคติต่อพฤติกรรม การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง และการรับรู้ความสามารถควบคุมพฤติกรรม กับพฤติกรรมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสัมพันธ์กันเชิงบวกให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ 0.277, 0.257, 0.255 และ 0.139 (p< 0.05) ตามลำดับ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการแผน และมีพฤติกรรมการป้องกันหลังถูกสุนัขกัดเพิ่มขึ้น