Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยในการป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลงของเกษตรกรสวนผลไม้ อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการดำเนินการ 2 ระยะ ได้แก่ 1) การสร้างโปรแกรมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลงร่วมกับกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรสวนผลไม้จำนวน 258 คน และ 2) เปรียบเทียบผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลง กับกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรสวนผลไม้ จำนวน 35 คน ทำการเก็บข้อมูลก่อนการทดลอง หลังการทดลอง (สัปดาห์ที่ 4) และระยะติดตามผล (สัปดาห์ที่ 10) โดยใช้แบบสอบสัมภาษณ์ร่วมกับการใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ผลการศึกษา พบว่า โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมทของเกษตรกรสวนผลไม้ เป็นกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในรูปแบบการบรรยายให้ความรู้ การประชุมกลุ่ม การสาธิตและการฝึกปฏิบัติ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรับรู้ถึงโอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรงจากการสัมผัสสารกำจัดแมลง การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลง การลดอุปสรรคในการใช้อุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการใช้สารกำจัดแมลง และการรับรู้ความสามารถของตนในการป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลง โดยใช้เครื่องมือ ได้แก่ สไลด์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง เทคนิคการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย วีดิทัศน์ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลง ภายหลังจากการเปรียบเทียบผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัย พบว่า ระยะหลังการทดลอง (สัปดาห์ที่ 4) และระยะติดตามผล (สัปดาห์ที่ 10) เกษตรกรสวนผลไม้ มีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ในการป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลงด้านการรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรง การรับรู้ประโยชน์ การรับรู้อุปสรรค และการรับรู้ความสามารถของตนเอง เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมในการป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลงก่อนใช้ ขณะใช้ และหลังการใช้สารกำจัดแมลง ในระยะหลังการทดลอง (สัปดาห์ที่ 4) และระยะติดตามผล (สัปดาห์ที่ 10) เพิ่มขึ้นมากกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) จากการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่าโปรแกรมความปลอดภัยทำให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการใช้สารกำจัดแมลงที่ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำโปรแกรมความปลอดภัยนี้ไปปรับใช้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะการปฏิบัติตัวในการป้องกันความเสี่ยงจากการรับสัมผัสสารกำจัดแมลงที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง