Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ในระยะเริ่มต้นของหอยนางรมปากจีบ (Saccostrea cucullata) โดยใช้หอยนางรมตัวเต็มวัยที่เก็บจากพื้นที่เพาะเลี้ยง นำมาเตรียมตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ แล้วศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงและกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน ผลการศึกษาพบว่า อวัยวะสืบพันธุ์ของหอยนางรมปากจีบ จะแทรกอยู่ภายในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณระหว่างเนื้อเยื่อชั้นแมนเทิลกับต่อมสร้างน้ำย่อยอวัยวะสืบพันธุ์ประกอบด้วยท่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ซึ่งมีเซลล์ vesicular connective tissue (VCT) อยู่ล้อมรอบ การสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้จะเริ่มจากที่บริเวณผนังท่อไปสู่ลูเมน โดยภายในท่อพบเซลล์สืบพันธุ์ระยะต่าง ๆ ได้แก่ สเปอร์มาโทโกเนียมชนิดที่หนึ่ง สเปอร์มาโทโกเนียมชนิดที่สอง สเปอร์มาโทไซต์ระยะแรก สเปอร์มาโทไซต์ระยะที่สอง สเปอร์มาทิด และสเปอร์มาโทซัว นอกจากนี้ยังพบเซลล์ค้ำจุนที่อยู่ภายในท่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ (intragonadal somatic cells; ISCs) แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เซลล์ค้ำจุนที่อยู่ภายในท่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ชนิดที่หนึ่ง (intragonadal somatic cell type I; ISC type I) และเซลล์ค้ำจุนที่อยู่ภายในท่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ชนิดที่สอง (intragonadal somatic cell type II; ISC type II) ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายหน้าที่ของเซลล์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน โดยการรายงานก่อนหน้านี้และงานวิจัยครั้งนี้คาดว่าเซลล์ ISC type I ทำหน้าที่คล้ายกับเซลล์เซอโทไลของสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยช่วยกำจัดส่วนที่เหลือจากการสร้างเซลล์สืบพันธุ์และเซลล์สืบพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนเซลล์ ISC type II ทำหน้าที่คล้ายกับเซลล์สะสมอาหารที่อยู่ภายในท่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ เนื่องจากพบว่ามีแกรนูลคล้ายกับเม็ดไกลโคเจนกระจายอยู่ในไซโทพลาซึมของเซลล์