Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อโหราศาสตร์และบทบาทของความเชื่อโหราศาสตร์ในพุทธศาสนาแบบไทใหญ่ และการสร้างความเป็นไทใหญ่แม่ฮ่องสอนผ่านความเชื่อโหราศาสตร์ ตั้งแต่ทศวรรษ 2530-2550 โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ที่ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical approach) เป็นแนวทางในการศึกษาและนำเสนอในรูปแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive analysis) ผลการศึกษาพบว่า ความเชื่อโหราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อดั้งเดิมที่ชาวไทใหญ่ยึดถือเป็นหลัก ต่อมารับความเชื่อโหราศาสตร์จากจีนและอินเดียมาปรับใช้ และสร้างเป็นลักษณะเฉพาะของความเชื่อโหราศาสตร์ไทใหญ่ และพบว่าความเชื่อโหราศาสตร์ไทใหญ่เป็นความเชื่อที่เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา กล่าวได้ว่าความเชื่อโหราศาสตร์มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างตัวตนความเป็นไทใหญ่ ทั้งด้านโลกทัศน์ในการดำเนินชีวิตความคาดหวังและวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันโลกจะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ความเชื่อโหราศาสตร์ยังคงมีความสำคัญและมีบทบาทในสังคมไทใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา พบว่าความเชื่อโหราศาสตร์ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและนิยามความเป็นไทใหญ่ของคนไทใหญ่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการสร้างและนำเสนอความเป็นไทใหญ่เพื่อตอบสนองการรื้อฟื้นตัวตนของคนไทใหญ่ในท้องถิ่น รวมถึงตอบสนองกระแสท้องถิ่นนิยมกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกระแสความนิยมเกี่ยวกับความเชื่อโหราศาสตร์ในสังคมไทย