Abstract:
ความปลอดภัยผู้ป่วยเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพบริการและเป็นหลักการพื้นฐานของคุณภาพการดูแล การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วยตามการรับรู้ของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออก และเปรียบเทียบความแตกต่างของการรับรู้วัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการที่ปฏิบัติงานในแผนกผู้ป่วยในและแผนกผู้ป่วยนอก สังกัดฝ่ายบริการการพยาบาลโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออก จำนวน 102 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามวัฒนธรรมความปลอดภัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ สถิติพรรณนา One way ANOVA และIndependent t-test ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้วัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วยโดยรวมอยู่ในระดับมาก (M = 3.53, SD = .36) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่ามีการรับรู้ในระดับมาก 7 ด้าน โดยด้านการทำงานเป็นทีมในหน่วยงาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (M = 4.15, SD = .59) และในระดับปานกลาง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความถี่ของเหตุการณ์ที่ได้รับรายงาน ด้านการทำงานเป็นทีมระหว่างหน่วยงาน ด้านกรณีเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลและการส่งต่อด้านบุคลากรและด้านการสนับสนุนด้านการจัดการของโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย (M = 3.47, SD = 1.04; M = 3.37, SD = .75; M = 3.37, SD = .82; M = 3.15, SD = .79; M = 3.10, SD = .73 ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการรับรู้วัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วย จำแนกตามอายุ ประสบการณ์การทำงาน และการได้รับการอบรมวัฒนธรรมความปลอดภัยของพยาบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ ประสบการณ์การทำงาน และการได้รับการอบรมวัฒนธรรมความปลอดภัย ต่างกันมีการรับรู้วัฒนธรรมความปลอดภัยแตกต่าง กันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (F2, 99 =2.49,p= .08; F2,99=2.67, p= .07; t 100=.66, p= .14 ตามลำดับ) จากการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่าผู้บริหารควรส่งเสริมด้านการจัดการของโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและการจัดอัตรากำลังที่เหมาะสมระหว่างจำนวนบุคลากรกับปริมาณงาน