Abstract:
การดำเนินบทบาทมารดาอย่างเหมาะสมส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย จิตอารมณ์ของบุตร การบริการการพยาบาลเชิงวิชาชีพเป็นการส่งเสริมบทบาทอิสระของพยาบาล ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดาสามารถดำเนินบทบาทได้อย่างมั่นใจ การศึกษาผลของการใช้รูปแบบการบริการการพยาบาลเชิงวิชาชีพต่อการรับรู้บทบาทมารดาของมารดาครรภ์แรกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ย การรับรู้บทบาทมารดาของมารดาครรภ์แรกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างคือ มารดาครรภ์แรกที่มาคลอดในโรงพยาบาลชลบุรี ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มอย่างอย่างง่าย จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 20 คน และกลุ่มควบคุม 20 คน กลุ่มทดลองได้รับปฏิบัติการพยาบาลตามรูปแบบการบริการการพยาบาลเชิงวิชาชีพ จำนวน 5 กิจกรรม และกลุ่มควบคุมได้รับการปฏิบัติการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสอบถามการรับรู้ บทบาทมารดา ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ .93 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ พรรณนา การทดสอบค่าที การทดสอบไคสแควร์ และการทดสอบของฟิชเชอร์ ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้บทบาทมารดาสูงกว่ากลุ่มควบคุมทั้งโดยรวมและรายด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และคะแนนเฉลี่ย การรับรู้บทบาทมารดาของกลุ่มทดลองภายหลังการทดลอง สูงกว่าก่อนการทดลองทั้งโดยรวม และรายด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการบริการการพยาบาลเชิงวิชาชีพที่ผู้วิจัย สร้างขึ้นสามารถเพิ่มการรับรู้บทบาทมารดาได้ ดังนั้นพยาบาลสามารถนำรูปแบบบริการพยาบาลนี้ ไปประยุกต์ในการดูแลมารดาหลังคลอดและผู้บริหารทางการพยาบาลควรกำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และประสบความสำเร็จในการปฏิบัติบทบาทมารดา