Abstract:
การพยาบาลที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลางมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยวิกฤตเพื่อให้สมาชิกครอบครัวสามารถเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยวิกฤต โดยได้ร่วมดูแลบุคคลอันเป็นที่รัก อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การวิจัยเชิงพรรณนาแบบเปรียบเทียบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความต้องการและการได้รับการตอบสนองการดูแลของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤต ระยะสุดท้าย กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบสะดวก เป็นสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้าย ที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลชลบุรี จำนวน 82 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามความต้องการ และการได้รับการตอบสนองของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้าย ซึ่งผู้วิจัยประยุกต์ใช้ ตามแนวคิดความต้องการของสมาชิกครอบครัวของ Molter มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .89 และ.96 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการทดสอบค่าทีแบบกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระ ผลการวิจัยพบว่าคะแนนเฉลี่ยความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับมาก (M = 149.22, SD = 7.97) และคะแนนเฉลี่ยการได้รับการตอบสนองความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับมาก (M = 131.40, SD = 17.28) ความต้องการการดูแลของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้าย สูงกว่าการได้รับการตอบสนองความต้องการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t= 7.98, p< .001, t= 7.038, p< .001, t= 8.829, p< .001 และ t= 4.466, p< .001 ตามลำดับ) ผลการวิจัยครั้งนี้ให้ข้อเสนอแนะว่า พยาบาลในหน่วยงานวิกฤตควรประเมินความต้องการของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้าย เพื่อให้การพยาบาลตอบสนองต่อความต้องการของครอบครัวได้อย่างเหมาะสม