Abstract:
พฤติกรรมร่วมรู้สึกของพยาบาลในการให้การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับรู้และเข้าใจการปฏิบัติการพยาบาล การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดผลก่อนและหลัวการทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกิจกรรมการพยาบาลโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัวในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจต่อพฤติกรรมร่วมรู้สึกของพยาบาลกลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง จำนวน 20 คน เป็นสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม โรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 10 คน ได้รับกิจกรรมการพยาบาลโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัว และกลุ่มควบคุม จำนวน 10 คน ได้รับกิจกรรมการพยาบาลตามปกติของหอผู้ป่วยเก็บรวบรวมข้อระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ คู่มือกิจกรรมการพยาบาลโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกครอบครัวในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ และแบบสอบถามพฤติกรรมร่วมรู้สึกของพยาบาล มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .98 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติพรรณนา และการทดสอบที ผลการวิจัย พบว่า ผลต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้พฤติกรรมร่วมรู้สึกของพยาบาล (ระหว่างภายหลังกับก่อนการใช้กิจกรรมการพยาบาล) ในกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t= -7.85, p< .001) และในกลุ่มทดลองคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมร่วมรู้สึกของพยาบาลภายหลังการใช้กิจกรรมการพยาบาลสูงกว่าก่อนการใช้กิจกรรมการพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t= 8.79, p< .001) ผลการวิจัยนี้ให้ข้อเสนอแนะว่า พยาบาลสามารถนำกิจกรรมการพยาบาลโดยการมีส่วน ร่วมของสมาชิกครอบครัวไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยที่มีบริบททำนองเดียวกันนี้เพื่อส่งผลให้สมาชิกครอบครัวผู้ป่วยมีการรับรู้ต่อพฤติกรรมร่วมรู้สึกของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยไปในทางที่ดี