Abstract:
จากการศึกษาอัตราการรอดตายและพิษเฉียบพลันของแคดเมียมและปรอทที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ในลูกกุ้งกุลาดำ พบว่า เปอร์เซ็นต์ของอัตราการรอดตายของลูกกุ้งที่ระดับความเข้มข้นของแคดเมียม 0.0, 1.0, 1.5, 2.0, 2.5, 3.0, 3.5 และ 4.0 ppm ในระยะเวลา 96 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 100%, 90%, 67% 17% และ 0% ตามลำดับ โดยมีค่า LC50-96h เท่ากับ 2.42 ppm ส่วนเปอร์เซ็นต์ของอัตราการรอดตายของลูกกุ้งที่ระดับความเข้มข้นของปรอท 0.0, 0.1, 0.2, 0.3, 0.4 และ 0.5 ppm ในระยะเวลา 96 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 100%, 80%, 40%, 17% และ 0% ตามลำดับ โดยมีค่า LC50-96h เท่ากับ 0.25 ppm สำหรับอัตราการบริโภคออกซิเจนของลูกกุ้งที่เลี้ยงในน้ำที่มีสารแคดเมียมที่ความเข้มข้น 0, 0.1, 0.5 และ 1.0 mg/l มีค่าเท่ากับ 6.21+-1.53, 6.92+-1.21, 4.87+-1.24 และ 4.37+-12.8 Umol.g -1 .h -1 ตามลำดับ ส่วนอัตราการบริโภคออกซิเจนของลูกกุ้งที่เลี้ยงในน้ำที่มีสารปรอทที่ความเข้มข้น 0, 0.01, 0.05 และ 0.1 mg/1 มีค่าเท่ากับ 6.14+-1.33, 5.65+-1.03, 5.07+-0.80 และ 4.17+-1.13 Umol.g-1 .h-1 ตามลำดับ เมื่อเปรียบอัตราการบริโภคออกซิเจนของลูกกุ้งที่เลี้ยงในที่มีความเข้มข้นของแคดเมียมและปรอทในระดับต่าง ๆ กัน พบว่าอัตราการบริโภคของออกซิเจนของลูกกุ้งที่เลี้ยงในน้ำที่มีความเข้มข้นของแคดเมียมและปรอทสูง จะมีค่าต่ำกว่าอัตราการบริโภคออกซิเจนของลูกกุ้งที่เลี้ยงในน้ำที่มีความเข้มข้นของแคดเมียมและปรอทต่ำ สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายกุ้งที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ของแคดเมียมและปรอท พบว่า ค่าความเข้มข้นของเลือดกุ้งจะมีค่าต่ำลงเมื่อเลี้ยงในน้ำที่มีความเข้มข้นของแคดเมียมและปรอทสูงขึ้น โดยกุ้งที่เลี้ยงที่ระดับความเข้มข้นของแคดเมียม 0,0.1, 0.5 และ 1.0 mg/1 มีค่าความเข้มข้นของเลือดเท่ากับ 636.50+-10.33, 628.21+-8.66, 591.29+-7.37 และ 559.93+-7.94 ตามลำดับ ส่วนกุ้งที่เลี้ยงที่ระดับความเข้มข้นของปรอท 0, 0.01, 0.05 และ 0.1 mg/1 mg/1 มีค่าความเข้มข้นของเลือดเท่ากับ 686.71+-7.23, 626.0+-13.48, 573.25 +-14.38 และ 536.71+-7.25 ตามลำดับ เมื่อนำกุ้งที่เลี้ยงไว้มาวิเคราะห์หาปริมาณแคดเมียมและปรอท พบว่า ปริมาณแคดเมียมและปรอมที่พบในส่วนหัวจะมีค่าสุงกว่าส่วนลำตัวและปริมาณที่สะสมจะมีค่าสุงขึ้นในกุ้งที่เลี้ยงในน้ำที่มีความเข้มข้นของแคดเมียมและปรอทสูงขึ้น
จากผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การสะสมของสารแคดเมียมและปรอทในร่างกายของลูกกุ้งกุลาดำอาจไม่มีผลต่อการตายของกุ้งในทันทีทันใด แต่การสะสมดังกล่าวจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสรีรวิทยาของกุ้ง ดังเห็นได้จากอัตราการบริโภคออกซิเจนและการควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่กุ้งนั้น ๆ อาศัยอยู่