Abstract:
การศึกษาเรื่องแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับของแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน และเพื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานพิทักษ์ป่า สังกัดสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยเกี่ยวกับการทำงาน โดยเก็บข้อมูลจากประชากรทั้งหมด 209 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานการวิจัย โดยใช้การเปรียบเทียบ ค่าเฉลี่ย(Independent sample t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA และหาก พบว่า ค่า Levene’s test ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดใช้ค่า Brown-forsythe และค่า Welch วิเคราะห์ข้อมูลแทน และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการทดสอบ Dunnett T3โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการศึกษา พบว่า พนักงานพิทักษ์ป่ามีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยพนักงานพิทักษ์ป่ามีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานด้านปัจจัยการบำรุงรักษาสูงกว่า ปัจจัยการจูงใจเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ปัจจัยการจูงใจที่เป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติงานสูงสุด คือความสำเร็จในงาน รองลงมาคือลักษณะของงานที่ปฏิบัติส่วนปัจจัยการบำรุงรักษา พบว่า สถานะของอาชีพเป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติงานอันดับ สูงสุด รองลงมาคือความมั่นคงในงาน ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า พนักงานพิทักษ์ป่าที่มีอายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน สถานภาพสมรส และที่อยู่ปัจจุบันต่างกัน มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกัน ส่วนพนักงานพิทักษ์ป่าที่มีสถานที่ปฏิบัติงาน ประเภทของงานที่ปฏิบัติและจังหวัดที่ปฏิบัติงานต่างกัน มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ข้อเสนอแนะจากการวิจัย คือ หน่วยงานระดับปฏิบัติควรกำหนดอัตราเงินเบี้ยเลี้ยงในการ ปฏิบัติงานให้กับพนักงานพิทักษ์ป่าตามความเหมาะสมกับปริมาณงาน และความเสี่ยงของงานนั้น ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในด้านเงินเดือน และจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานให้เพียงพอ เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจด้านสภาพการทำงาน