Abstract:
จุดมุ่งหมายของการวิจัย เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการอ่าน และ การเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนโดยใช้เพลงและการสอนปกติ การวิจัยเป็นแบบทดลองมีการทดสอบก่อน-หลังการเรียน โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 50 คน จากโรงเรียนวัดราษร์ศรัทธา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดชลบุรี
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบทดสอบผลสัมฤทธิผลทางการอ่านและการเขียนซึ่งผู้วิจัยสรา้งขึ้นเอง โดยยึดตามแผนการสอนกลุ่มทักษะในบทที่ 8 และ 9 เรื่องเล่นแล้ว เก็บด้วยและสะพานร่วมใจ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) แบบทดสอบได้หาคุณภาพโดยผู้วิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบความรู้ความถูกต้องของเนื้อหา (content validity) วิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนกเป็นรายข้อ และนำข้อที่มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .20 ขึ้นไป จำนวน 30 ข้อ ไปหาความเชื่อมั่นตามวิธีของ คูเดอร์และริชาร์ดสัน (Kuder-Richardson) ได้ความเชื่อมั่นทั้งฉบับ 0.89
การดำเนินการวิจัย แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 25 คน กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มทดลองสอนโดยใช้เพลงประกอบการสอนและกลุ่มที่ 2 เป็น กลุ่มควบคุมสอนโดยใช้วิธีสอนปกติ ผู้สอนทั้ง 2 กลุ่ม เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 วิชาเอกการประถมศึกษา ซึ่งกำลังเรียนวิชาภาษาไทยสำหรับครูประถมในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2535 นักเรียนทั้ง สองกลุ่มได้มีการทดสอบคุณลักษณะก่อนเรียน (pretest) นำผลมาเปรียบเทียบกันด้วย t-test ปรากฎว่าผลการทดสอบแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แล้วดำเนินการสอนกลุ่มละ 30 คาบ ๆ ละ 20 นาที รวมเป็นเวลา 10 วัน หลังจากการสอนสิ้นสุดลง ได้มีการทดสอบหลังเรียน (posttest) แล้วนำคะแนนมาวิเคราะห์ด้วย t-test ผลการวิจัยปรากฎว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอ่านและการเขียนภาษาไทยของนักเรียนทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยกลุ่มที่ใช้การสอนแบบการใช้เพลงประกอบการสอนมีคะเนนเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มที่ใช้วิธีสอนปกติ