Abstract:
ในการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี และองค์ประกอบทางเคมีของข้าวไทยทั้งข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวพันธุ์เชิงพาณิชย์ทั้งหมดจำนวน 14 สายพันธุ์ ด้วยการวิเคราะห์แบ่งกลุ่มและการวิเคราะห์ส่วนประกอบหลัก ผลการวิจัยพบว่า สามารถจัดกลุ่มข้าวไทยได้เป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่ 1 เป็นข้าวพันธุ์เชิงพาณิชย์ที่เป็นข้าวเจ้าหอม จำนวน 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์กข 15 ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ข้าวพันธุ์คลองหลวง 1 และข้าวพันธุ์หอมสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มข้าวที่มีลักษณะเมล็ดข้าวนุ่มและเหนียวเมื่อผ่านการหุงต้ม กลุ่มที่ 2 เป็นข้าวพันธุ์เชิงพาณิชย์ที่มีปริมาณอมิโลสค่อนข้างสูงจำนวน 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วยข้าวพันธุ์ปทุมธานี 60 ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 60 ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 และข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 90 ซึ่งเป็นกลุ่มข้าวที่มีลักษณะเมล็ดข้าวร่วนและค่อนข้างแข็ง เมื่อผ่านการหุงต้ม และกลุ่มที่ 3 เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง จำนวน 5 สายพันธุ์ประกอบด้วยข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุง ข้าวพันธุ์นางพญา 132 ข้าวพันธุ์พลายงามปราจีนบุรี ข้าวพันธุ์เล็บนกปัตตานี และข้าวพันธุ์สังข์หยด ซึ่ง เป็นกลุ่มข้าวที่มีสารอาหารค่อนข้างสูง นอกจากนี้เมื่อศึกษาส่วนประกอบแร่ธาตุของข้าวกล้องงอกจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวกล้องจากข้าวพันธุ์เชิงพาณิชย์ทั้งหมด จำนวน 8 สายพันธุ์ พบว่า สามารถจัดกลุ่มข้าวกล้องงอก จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวกล้องจากข้าวพันธุ์เชิงพาณิชย์ได้เป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ 1 เป็น ข้าวกล้องจากข้าวพันธุ์เชิงพาณิชย์จำนวน 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ข้าวพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ข้าวพันธุ์กข 31 และข้าวพันธุ์กข 6 และกลุ่มที่ 2 คือ ข้าวกล้องงอกจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองจำนวน 3 สายพันธุ์ประกอบด้วยข้าวพันธุ์เหนียวดำช่อไม้ไผ่ข้าวพันธุ์เหนียวแดงกรามแรด และข้าวพันธุ์เหนียวดำหมอ และพบว่า ข้าวกล้องงอกจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์ที่มีส่วนประกอบแร่ธาตุค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับข้าวกล้องจากข้าวพันธุ์เชิงพาณิชย์