Abstract:
มันสำปะหลัง (Manihot esculenta Crantz) เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทย ในงานวิจัยนี้ทำการศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์ของ Internal Transcribed Spacers 1 (ITS1) และบริเวณ non-coding ดีเอ็นเอ ของไมโทคอนเดรียเพื่อพิจารณาใช้เป็นเครื่องหมาย ชีวโมเลกุลในระดับสายพันธุ์ของมันสำปะหลัง โดยศึกษาจำนวน 18 สายพันธุ์ เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยคู่ไพรเมอร์ ITS1 Mes_R และ ITS1 Mes_L ด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส ผลผลิตพีซีอาร์มีขนาดเท่ากับ 514 คู่เบส เมื่อวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์พบว่าบริเวณ ITS1 ของมันสำปะหลังทุกตัวอย่างมีขนาดเท่ากับ 225 คู่เบส ลำดับเบสแตกต่างกัน 8 ตำแหน่ง ส่วนบริเวณ non-coding ดีเอ็นเอ ของมันสำปะหลังเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยคู่ไพรเมอร์ trn-Phe และ trn-F ได้ผลผลิตพีซีอาร์มีขนาด 368 คู่เบส เมื่อวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์พบว่าทุกตัวอย่างมีขนาด 268 คู่เบส เท่ากัน ดังนั้นลำดับนิวคลีโอไทด์ของ ITS1 และ non-coding ดีเอ็นเอ ในไมโทคอนเดรียของมันสำปะหลังมีความแปรปรวนต่ำ ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องหมายชีวโมเลกุลในระดับสายพันธุ์ของมันสำปะหลัง