Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของครูและนิสิต ศึกษาความคิดเห็นของอาจารย์ประจำกลุ่มและอาจารย์พี่เลี้ยงที่มีต่อการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2541 จำนวน 140 คน อาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชา 404363 ประสบการณ์วิชาชีพครู จำนวน 8 คน และอาจารย์พี่เลี้ยงจากโรงเรียนที่รับฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จำนวน 63 คน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2541 เครื่องมือที่ใช่ในแบบสอบถาม 3 ชุด ได้แก่ แบบสอบถามสำหรับนิสิต แบบสอบถามสำหรับอาจารย์ประจำกลุ่ม และแบบสอบถามสำหรับอาจารย์พี่เลี้ยงเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) เมื่อพบความแตกต่างแล้วทำการวิเคราะห์ความแตกต่างเป็นรายคู่ โดยใช้วิธีของ เชฟเฟ (Scheffe’) ผลการวิจัยพบว่า 1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบความคิดเห็นของนิสิตที่มีต่อการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู พบว่า นิสิตที่ศึกษาสาขาวิชาเอกต่างกันมีความคิดเห็นด้านการปฏิบัติและผลการปฏิบัติกิจกรรมในขั้นตอนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยพิจารณาเปรียบเทียบรายคู่พบว่า นิสิตสาขาวิชาเอกเทคโนโลยีทางการศึกษากับสาขาวิชาเอกวิทยาศาสตร์-เคมี มีความคิดเห็นแตกต่างกัน และสาขาวิชาเอกสังคมศึกษากับสาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ มีความคิดเห็นแตกต่างกัน 2. นิสิตมีความคิดเห็นต่อผลที่ได้รับจากกิจกรรมที่ปฏิบัติในขั้นเตรียมความพร้อม ณ มหาวิทยาลัยอยู่ในระดับมาก การปฏิบัติและผลการปฏิบัติงานกิจกรรมในขั้นฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนอยู่ในระดับมาก ส่วนความคิดเห็นต่อวิชาชีพครูและสภาพปัญหาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพอยู่ในระดับปานกลาง 3. อาจารย์ประจำกลุ่มมีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการฝึกประสบการณ์ คุณลักษณะและพฤติกรรมการเป็นครูของนิสิต ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การปฏิบัติตนและการวางตนของนิสิตอยู่ในระดับดี
4. อาจารย์พี่เลี้ยงมีความคิดเห็นต่อคุณลักษณะและพฤติกรรมการเป็นครูของนิสิต การปฏิบัติงานในหน้าที่ การปฏิบัติตนและการวางตนอยู่ในระดับดี