Abstract:
งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาผลของแคดเมียมคลอไรด์ (CdCI2) ที่มีต่อการเพาะฟักของไข่หอยเชอรี่ ระดับความเป็นพิษที่ก่อให้เกิดการตายของหอยเชอรี่และการประยุกต์ใช้อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสในหอยเชอรี่ที่ได้รับสัมผัสกับแคดเมียมคลอไรด์มาเป็นตัวบ่งชี้ถึงการได้รับสัมผัส ผลการศึกษาพบว่าแคดเมียมคลอไรด์ส่งผลต่ออัตราการเพาะฟักของหอยเชอรี่ โดยในทุกกลุ่มของไข่หอยเชอรี่ที่ได้รับสัมผัสกับแคดเมียมคลอไรด์ ความเข้มข้น 0.05, 0.10, 0.20, 0.30 และ 0.40 mg/L พบว่าที่ความเข้มข้น 0.40 mg/L มีอัตราการเพาะฟักต่ำที่สุด (39.61%) และทุกความเข้มข้นมีอัตราเพาะฟักน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ความผิดปกติที่ตรวจสอบได้เมื่อไข่ได้รับสัมผัสกับแคดเมียมคลอไรด์ พบว่าที่ความเข้มข้นของแคดเมียม
0.40 mg/L มีลักษณะของเซลล์ไข่ผิดปกติมากที่สุด (61.12%) และเกิดความผิดปกติของตัวอ่อนมากที่สุดเช่นกัน (63.83%) ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนำหอยเชอรี่ขนาดกลางมาทดสอบถึงค่าความเป็นพิษของแคดเมียมคลอไรด์ที่ก่อให้เกิดการตาย 50% ที่เวลา 96 ชั่วโมง พบว่ามีค่าประมาณ 1.25 (7.143 – 2.234) mg/L เมื่อตรวจสอบรูปแบบของอะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส พบว่ามี 1 isoform ที่มีขนาด 71 kDa เมื่อศึกษาโดยใช้เทคนิค SDS-PAGE การแสดงออกของอะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส พบว่าจะลดลงตามระดับความเข้มข้นที่หอยเชอรี่ได้รับสัมผัสแคดเมียมคลอไรด์ ในระดับความเข้มข้นที่ไม่ก่อให้เกิดการตาย คือ 0, 0.05, 0.10, 0.20, 0.30 และ 0.40 mg/L เมื่อได้รับสัมผัสสารเป็นเวลา 96 ชั่วโมง ขีดจำกัดการตรวจสอบ คือ 0.156, 0.312, 0.625, 2.5 และ 5 μg/μl ส่วนในระดับที่ก่อให้เกิดการตาย คือ ระดับความเข้มข้น 0, 0.50, 1.00, 1.50, 2.0 และ 2.50 mg/L ขีดจำกัดของการตรวจสอบโดยใช้เทคนิคดอทบลอท คือ 10, 10, 10, 10, 10 , 20 μg/μl