Abstract:
ได้ทำการสังเคราะห์และพิสูจน์โครงสร้างของสารประกอบโคออร์ดิเนชันชนิดไดนิวเคลียร์ของคอปเปอร์ (II) และสังกะสี (II) กับลิแกนด์ bis(dipicolylamine) ที่มี para-xylylene ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม bis(dipicolylamine) ทั้ง 2 หมู่ (CuL1 และ ZnL1) หลังจากนั้นนำสารประกอบทั้งสองชนิดมาใช้เป็นรีเซ็บเตอร์สำหรับการตรวจวัดแอนไอออนโดยใช้อินดิเคเตอร์โบรโมไพโรแกลลอล เรด (bromopyrogallol red หรือ BPG) เป็นอินดิเคเตอร์ที่ใช้สำหรับตรวจวัดในตัวทำละลายผสม 80/20 (%v/v) ของอะซิโตรไรไตรล์และ HEPES ความเข้มข้น 10 mM ที่ pH 7.0 จากการศึกษาพบว่าเมื่อเติมแอนไอออนชนิดต่าง ๆ ลงไปยังสารละลายของเอนเซมเบิล [CuL1•BPG] และ [ZnL1•BPG] พบว่ามีเพียงเอนเซมบิล [CuL1•BPG] เท่านั้นที่สามารถตรวจสอบออกซาเลตแอนไอออนจากแอนไอออนชนิดต่าง ๆ ได้ โดยที่ออกซาเลตสามารถเปลี่ยนสีของสารละลายเอนเซมเบิลจากสีฟ้าอมม่วงไปเป็นสีม่วงอมชมพูของอินดิเคเตอร์ BPG ในรูปอิสระได้ จากผลการทดลองที่ได้จะเห็นได้ว่าชนิดของไอออนโลหะมีผลสำคัญต่อการตรวจวัดออกซาเลตแอนไอออน โดยที่การตรวจวัดออกซาเลตในงานวิจัยนี้สามารถตรวจวัดออกซาเลตในช่วงของความเข้มข้นที่ 20 – 50 μM (R2 = 0.995) และมีค่าขีดจำกัดในการตรวจวัดด้วยตาเปล่าเท่ากับ 20 μM