Abstract:
วิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนในปัจจุบันอาศัยข้อมูลงานวิจัยจากการทดสอบในแมงกะพรุนที่พบในต่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างของชนิดของพิษและลักษณะของเข็มพิษจากแมงกะพรุนที่พบในประเทศไทย โดยทะเลในเขตจังหวัดชลบุรีจะพบแมงกะพรุนหนัง (Rhopilema hispidum) บ่อยที่สุดเพราะเป็นแมงกะพรุนที่เข้ามาตามฤดูมรสุม ในขณะที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลมีแมงกะพรุนไฟ (Sanderia malayensis) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนไฟที่มีลักษณะสวยงาม อย่างไรก็ตามไม่พบว่ามีการศึกษาวิจัยถึงพิษและการถอนพิษของแมงกะพรุนทั้งสองขนิดนี้ เพื่อให้สามารถปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนดังกล่าวได้ถูกต้องและทันท่วงที ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความรุนแรงของพิษของแมงกะพรุนทั้งสองชนิดโดยวิเคราะห์ร้อยละการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง และทดสอบว่าสารสกัดจากผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-capres) หรือสารเคมีอื่น ๆ มีส่วนช่วยในการถอนพิษแมงกะพรุนดังกล่าวหรือไม่ จากการศึกษาโดยใช้หนวดแมงกะพรุนบดละเอียดพบว่าหนวดแมงกะพรุนไฟมีฤทธิ์ในการทำให้เม็ดเลือดแดงแตกมากกว่าหนวดแมงกะพรุนหนังโดยมีค่าความหนาแน่นที่ทำให้เม็ดเลือดแตงแตกครึ่งหนึ่ง (EC50) ที่ 13.2 และ 218.8 mg-tentacle/ml ตามลำดับ เมื่อทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดจากใบผักบุ้งทะเลและสารเคมีบางชนิดต่อการถอนพิษที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกและการป้องกันการแตกของกะเปาะเข็มพิษแมงกะพรุน ผู้วิจัยพบว่า น้ำคั้นจากใบผักบุ้งทะเล สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล น้ำส้มสายชูกลั่น และแทนนิน มีฤทธิ์ในการถอนพิษแมงกะพรุน ในขณะที่น้ำคั้นจากใบผักบุ้งทะเล สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล น้ำส้มสายชูกลั่น แคลเซียม EDTA และแทนนิน มีฤทธิ์ในการลดอัตราการแตกของกะเปาะเข็มพิษแมงกะพรุนหนังในสารละลาย แต่มีเพียงสารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล แคลเซียม และน้ำส้มสายชูกลั่น เท่านั้นที่ป้องกันการแตกของกะเปาะเข็มพิษแมงกะพรุนหนังบนผิวหนังเทียมที่เลียบแบบการปฐมพยาบาลในสถานการณ์จริงได้ ในขณะที่แอลกอฮอล์และเหล้าขาวนอกจากจะเพิ่มฤทธิ์ของพิษแมงกะพรุนแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการแตกของกะเปาะเข็มพิษแมงกะพรุนเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้น ดังนั้นในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับพิษแมงกะพรุนโดยการใช้น้ำส้มสายชูกลั่นจึงเป็นแนวทางการปฐมพยาบาลที่เหมาะสมแล้ว นอกจากนี้การพัฒนาสารสกัดจากผักบุ้งทะเลเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลจะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษแมงกะพรุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น