Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้เพื่อที่จะศึกษาปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในหญ้าทะเลและดินตะกอน บริเวณเกาะกูด โดยเก็บตัวอย่างจาก 3 สถานี ในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฏาคม พ.ศ.2563 ประเมินมวลชีวภาพส่วนเหนือดิน ใต้ดิน และปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ของหญ้าทะเล เปรียบเทียบการสะสมคาร์บอนอินทรีย์ในดินตะกอนความลึกระหว่าง 0 – 5 5 – 10 และ 10 – 15 เซนติเมตร พบหญ้าทะเลจำนวน 4 ชนิด โดยมีหญ้าทะเลชนิด ได้แก่ Cymodocea serrulata Halodule pinifolia Halodule uninervis และ Halophila ovalis โดยพบ Cymodocea serrulata เป็นหญ้าทะเลชนิดเด่นของพื้นที่ มวลชีวภาพเฉลี่ยของพื้นที่มีค่า 217.5±11.4 กรัมน้ำหนักแห้งต่อตารางเมตร โดยบริเวณอ่าวกะลังมีมวลชีวภาพ และชนิดหญ้าทะเลสูงสุด (270.46±33.38 กรัมน้ำหนักแห้งต่อตารางเมตร) ปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ทั้งมวลชีวภาพส่วนเหนือดิน และส่วนใต้ดินในหญ้าทะเลแต่ละชนิดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (p<0.05) และปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในแนวหญ้าทะเลแบบผสมจะมีค่าสูงกว่าแนวหญ้าทะเลชนิดเดียว รวมถึงมีแนวโน้มสัมพันธ์กับปริมาณมวลชีวภาพส่วนใต้ดิน ปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ในดินตะกอนมีค่ามากที่ระดับความลึก 5-10 เซนติเมตร แสดงให้เห็นว่าส่วนลำต้นใต้ดินมีบทบาทต่อการสะสมคาร์บอนอินทรีย์ในดิน