Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเอกสารโดยใช้ต้นฉบับตัวเขียนเทวันคำกาพย์ ซึ่งบันทึกไว้ในสมุดไทย ปัจจุบันต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ฝ่ายเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับเทวันธชาดก ในด้านองค์ประกอบของเรื่องและกลวิธีการดัดแปลงเนื้อเรื่อง
ผลการวิจัยพบว่า เทวันธชาดกเป็นชาดกเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดกที่สันนิษฐานว่าแต่งเพิ่มเติมในสมัยหลังเพราะเป็นชาดกที่มีโครงเรื่องซับซ้อน ไม่มุ่งให้ความสำคัญในการบำเพ็ญบารมีหรือคุณสมบัติที่ประเสริฐของพระโพธิสัตว์ อีกทั้งยังมีอนุภาคและเหตุการณ์บางตอนคล้ายกับเหตุการณ์ในนิทานเก่าแก่ที่มีมาก่อน ในอดีตเทวันธชาดกคงเป็นนิทานที่ได้รับความนิยมมากจึงมีการนำมาดัดแปลงเป็นกลอนบทละคร กลอนอ่าน และสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของเทวันคำกาพย์ซึ่งเป็นนิทานสำหรับใช้สวดอ่านเป็นท่วงทำนองในที่ประชุมชนหรือในครัวเรือนตามความนิยมของคนไทยมาไม่น้อยกว่าปีพุทธศักราช ๒๔๒๙ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
การศึกษาเปรียบเทียบองค์ประกอบของเรื่องพบว่านิทานทั้งสองเรื่องมีรูปแบบการนำเสนออย่างเดียวกัน ประกอบด้วยส่วนต้นเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนลงท้ายเรื่อง แต่มีธรรมเนียมนิยมในการประพันธ์แตกต่างกันตามประเภทวรรณกรรมและวัตถุประสงค์ในการประพันธ์ที่ต่างกัน นิทานทั้งสองเรื่องมีโครงเรื่องและสารัตถะของเรื่องอย่างเดียวกัน มีตัวละคร บทสนทนา ฉากหรือบรรยากาศ และหลักธรรมคำสอนที่เหมือนและแตกต่างกันบางประการ
ส่วนการศึกษาด้านวิธีการดัดแปลงเทวันธชาดกเป็นเทวันคำกาพย์พบว่ากวีมีภูมิรู้และมีความสามารถด้านการดัดแปลงวรรณกรรมด้วยการเปลี่ยนรายละเอียด เพิ่มรายละเอียด ตัดรายละเอียด สลับที่เหตุการณ์ ผนวกเรื่อง และการอ้างถึง มาประสมประสานทำให้เทวันคำกาพย์มีอนุภาคตัวละคร อนุภาคเหตุการณ์ และหลักธรรมคำสอนที่ชาวบ้านชาววัดผู้อ่านและฟังนิทานในยุคสมัยนั้นคุ้นเคย อีกทั้งยังทำให้เทวันคำกาพย์มีลักษณะอย่างนิทานพื้นบ้านประเภทนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่เน้นความสนุกสนานตลกขบขันแตกต่างจากเทวันธชาดกนิทานต้นเรื่องซึ่งเป็นนิทานศาสนา
เทวันธชาดกและเทวันคำกาพย์จึงเป็นนิทานของไทยอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ สะท้อนให้เห็นความสามารถรอบรู้ของกวีไทย ควรค่าแก่การศึกษา อนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักและเป็นเอกลักษณ์ของวงวรรณกรรมไทย