Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาความคิดเห็นของอาจารย์ และนิสิตที่มีต่อการจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิด 2)ศึกษาความต้องการการจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาวิทยาลัยบูรพา และ 3) กำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 53 ท่าน โดยความสมัครใจของผู้ให้ข้อมูล 2) อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 302 ท่าน ซึ่งได้มาโดยความสมัครใจของผู้ให้ข้อมูล 3) นิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 395 คน โดยความสมัครใจของผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1) ร่างรูปแบบ (Model) การจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิดสำหรับ มหาวิทยาลัยบูรพา 2) แบบประเมินร่างรูปแบบ (Model) การจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิดสำหรับ มหาวิทยาลัยบูรพา 3) แบบสอบถามเพื่อการวิจัยสำหรับผู้บริหารและคณาจารย์ และ 4) แบบสอบถามเพื่อการวิจัยสำหรับนิสิต
ผลการวิจัย พบว่า
1. ความคิดเห็นของอาจารย์ และนิสิตที่มีต่อการจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิด มีดังต่อไปนี้ 1) ควรมีหน่วยงานสนับสนุนการทำสื่อ MOOC 2) การพัฒนาระบบตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3) มีข้อกำหนดเกณฑ์การวัดและประเมินผลที่ชัดเจน 4) การพัฒนาสื่อที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้เรียนสามารถ เรียนซ้ำได้ 5) การใช้รายวิชาในระบบ MOOC ในการจัดการเรียนการสอน 6) ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
2. ความต้องการการจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาวิทยาลัยบูรพา
พบว่า มีความต้องการที่สำคัญดังต่อไปนี้ 1) มีหน่วยงานสนับสนุนการผลิตรายวิชา MOOC 2) การสนับสนุนเรื่องการเข้าถึงบทเรียน 3) การพัฒนาระบบให้ครอบคลุม 4) การกำหนดรายวิชาที่สอดคล้องกับชีวิตและอาชีพ 5) กระบวนการพัฒนารายวิชาที่มีประสิทธิภาพ 3. การกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาวิทยาลัยบูรพา ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบหลัก คือ 1 ด้านการบริหารจัดการ 2 ด้านการวิเคราะห์ 3 ด้านการออกแบบการเรียนการสอน 4 ด้านการพัฒนา 5 ด้านการนำไปใช้ และ 6 ด้านการประเมิน