Abstract:
การศึกษาวิถีชีวิตของตำรวจอาสาในชุมชนเมือง กรณีศึกษาตำรวจอาสาสถานีภูธรเมืองชลบุรี มีจุดมุ่งหมายในการสะท้อนสภาพชีวิต ปัญหาและวิธีการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ของตำรวจอาสาที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแบบเมือง รวมทั้งเพื่อค้นหารูปแบบหรือลักษณะของวิถีชีวิตในสังคมเมืองที่สามารถส่งเสริมการทำงานแบบอาสาสมัครให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีต่าง ๆ คือ (1) การศึกษาเอกสารต่าง ๆ (Documentary Study) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการ (2) การศึกษาภาตสนาม (Field Study) การซักถาม การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) และไม่มีส่วนร่วม (Non-Participant Observation) (3) การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Depth Interview) ผู้ให้ข้อมูล (Key Information) โดยการใช้คำถามทั้งแบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ ตำรวจอาสาซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีภูธรเมืองชลบุรี จำนวน 16 ราย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มตำรวจอาสาระดับแกนนำจำนวน 5 ราย และกลุ่มตำรวจอาสาระดับผู้ปฏิบัติการ 11 ราย การศึกษาในครั้งนี้ได้แบ่งวิถีชีวิตของตำรวจอาสาที่จะศึกษาออกเป็นสามด้าน คือ ด้านการทำงาน ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและเครือญาติ ด้านความเป็นอยู่โดยในด้านความเป็นอยู่จะแบ่งเป็นประเด็นย่อย ๆ สามประเด็น คือ การอุปโภคบริโภค การดูแลสุขภาพและสาธารณสุข และศาสนาและความเชื่อ ผลของการศึกษาพบว่า 1. วิถีชีวิตของตำรวจอาสาในชุมชนเมืองด้านการทำงานมี 2 รูปแบบที่สำคัญ คือ 1) การแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ตามความถนัดและความรู้ความสามารถ (Specialization) เป็นวิถีของการทำงานหลักหรืองานประจำ 2) การทำงานตามอัธยาศัยเป็นวิถีของการทำงานอาสา นอกจากนี้ยังพบว่าปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตำรวจอาสากับคนรอบข้างมีส่วนส่งเสริมให้งานตำรวจอาสามีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. วิถีชีวิตด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและเครือญาติพบว่า มีลักษณะของความปัจเจกชนนิยม (Individualism) สูงโดยจะแสดงออกมาในรูปแบบของการมีครอบครัวเดี่ยว การอยู่กันแบบเฉย ๆ แบบไม่แต่งงาน การหย่าร้าง การเปลี่ยนคู่บ่อย ๆ นอกจากนี้ยังพบว่าหลักประชาธิปไตยถูกนำมาเป็นรูปแบบสำคัญในการดำเนินชีวิตครอบครัว 3. วิถีชีวิตด้านความเป็นอยู่ พบว่า การบริโภคสินค้า การท่องเที่ยว การพักผ่อน การดูแลสุขภาพร่างกาย ศาสนาและความเชื่อของตำรวจอาสา ยึดโยงอยู่กับหลักของเหตุผล วิทยาศาสตร์และความทันสมัย 4. สภาพปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของตำรวจอาสาในการดำเนินชีวิตในชุมชนเมืองพบว่า ตำรวจอาสาต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมายทั้งในด้านการทำงาน ครอบครัวและชีวิตความเป็นอยู่ และวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ของตำรวจอาสาที่สำคัญคือ การใช้วิธีการสื่อสารหรือการพูดคุยเป็นหลัก 5. รูปแบบวิถีชีวิตที่ส่งเสริมการทำงานของตำรวจอาสาให้มีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น ได้แก่ การเคารพในสิทธิ หน้าที่ บทบาท เหตุผล หลักการและการมีเวลาที่ลงตัวในการทำงาน การมีครอบครัวที่อบอุ่นและเข้าใจของครอบครัวตำรวจอาสา การให้ความร่วมมือของประชาชน การมีเครือข่ายในสังคม การสนับสนุนของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ข้อเสนอที่ได้รับจากผลการศึกษา หน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ควรตระหนักถึความสำคัญของการมีตำรวจอาสาในชุมชนและควรสนับสนุนทั้งพัฒนางานตำรวจอาสาในทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้เพื่อให้งานตำรวจอาสาก้าวหน้าและสามารถลดทอนช่องว่างระหว่างตำรวจและประชาชนยังผลให้งานป้องกันอาชญากรรมของชุมชนประสบผลสำเร็จได้ในที่สุด