Abstract:
เทวันคำกาพย์เป็นนิทานพื้นบ้านไทยประเภทลายลักษณ์ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในยุคที่สังคมไทยนิยมการสวดอ่าน และฟังนิทานหรือกลอนสวดในที่ประชุมชนหรือในครัวเรือนราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น-สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันต้นฉบับเทวันคำกาพย์ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ฝ่ายเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กวีสร้างสรรค์เทวันคำกาพย์มาจากเทวันธชาดก ซึ่งเป็นนิทานในปัญญาสชาดก โดยได้เปลี่ยนรายละเอียดของตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่อง ได้แก่ เปลี่ยนรายละเอียด ชื่อ ลักษณะ พฤติกรรมของตัวละคร เปลี่ยนรายละเอียดเหตุการณ์ในเรื่องด้วยการนำอนุภาคและเหตุการณ์จากวรรณกรรมหรือนิทานเรื่องอื่นที่รู้จักกันดีที่มีมาก่อนมาดัดแปลงผสมผสาน ทำให้เทวันคำกาพย์มีความแตกต่างไปจากตัวบทนิทานต้นเรื่อง ซึ่งก่อให้เกิดความตลกขบขัน นอกจากนี้กวียังเปลี่ยนรายละเอียดของหลักธรรมคำสอนที่ปรากฏในเนื้อเรื่องให้ง่ายต่อความเข้าใจและการจดจำของผู้อ่านผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นชาวบ้านชาววัด เทวันคำกาพย์เป็นนิทานพื้นบ้านไทยอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ มีคุณค่า สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญา ความรอบรู้และความสามารถของกวีในการปรับเปลี่ยนนิทานศาสนาให้มาเป็นนิทานพื้นบ้าน จึงควรอนุรักษ์และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางต่อไป