Abstract:
การศึกษาความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบทภาคตะวันออกของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศึกษากระบวนการการสร้างประชาธิปไตยในชนบท โดยศึกษาผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ชุมชน พื้นที่ที่ใช้ศึกษาจำนวน 3 พื้นที่ ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนชนบทในเขตต่าง ๆ ผลการศึกษาพบว่า ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเกิดการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมผู้ประกอบการที่ผลิตสู่ตลาดโดยตรง มีสถาบันทางสังคมทั้งที่มีรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การเคลื่อนไหวของประชาธิปไตยในชุมชนมีสองรูปแบบ คือ ประชาธิปไตยจากบนสู่ล่าง และประชาธิปไตยจากล่างสู่บน โดยเกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายและชาวบ้านต่อรองอยู่กับอำนาจที่เป็นทางการ เพื่อปรับความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ การสร้างตัวตนทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผ่านการต่อรองหลายรูปแบบ ในด้านโครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนและด้านมิติทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านต่างมีวิธีคิดและความรู้สึกเชิงการค้า กล่าวคือ การคำนึงถึงการแสวงหากำไรและความมั่นคั่งในชีวิต ด้านมิติทางการเมือง การเลือกตั้งหมายถึง หลักประกันในเชิงนโยบายที่คาดว่าตนเองจะได้รับโอกาสในการประกอบการทางเศรษฐกิจ การแสดงตัวตนผ่านพื้นที่สาธารณะ กระบวนการประชาธิปไตยจึงหมายถึง การเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น ท้าทาย ต่อรองเข้ามามีส่วนร่วม ตรวจสอบการใช้อำนาจ และแสดงตัวตนทางสังคมได้อย่างมีอิสระเพื่อสร้างโอกาสในการดำเนินชีวิตประจำวัน