Abstract:
การประเมินศักยภาพของระบบนิเวศทางทะเล เพื่อรองรับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรหอยลาย บริเวณอ่าวตราด จังหวัดตราด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตามเวลาของลักษณะสัณฐานวิทยาการไหลเวียนของกระแสน้ำ คุณภาพน้ำ คุณภาพดินตะกอน แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์พื้นท้องน้ำบริเวณอ่าวตราด โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปบูรณาการ ในการประเมินศักยภาพของระบบนิเวศบริเวณอ่าวตราดเพื่อการพัฒนาแหล่งทรัพยากรหอยลาย
ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าคุณภาพน้ำบริเวณอ่าวตราดอยู่ในระดับดี และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตทั้งนี้พิจารณาได้จากเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่ค่าเกิน 4 มิลลิกรัมต่อลิตรในทุกช่วงเวลาที่ที่ทำการศึกษา โดยการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำจะเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลโดยความเค็มจะเป็นปัจจัยที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้เป็นอย่างดี ด้านกำลังผลิตขั้นต้นของแหล่งน้ำ (คลอโรฟิลล์ เอ) พบว่าอยู่ในระดับ meso-trophic ถึง eutrophic สำหรับคุณภาพดินตะกอน สามารถพบปริมาณสารอินทรีย์รวมบริเวณอ่าวตราดร้อยละ 70 ของพื้นที่ มีค่าเฉลี่ยมากว่า 10 เปอเซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก สำหรับปริมาณซัลไฟล์ในดินตะกอนมีค่าในระดับที่ค่อนข้างต่ำและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ในส่วนของอนุภาคดินตะกอนพบว่า ส่วนมากมีขนาดเล็กว่า 63 ถึง 425 ไมครอน ทั้งนี้ขนาดของดินตะกอนที่พบในอ่าวตราดมีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์พื้นท้องน้ำในกลุ่มของหอย และไส้เดือนทะเล สำหรับการศึกษาด้านสิ่งมีชีวิตในอ่าวตราดซึ่งประกอบด้วยแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์พื้นท้องน้ำพบว่า อ่าวตราดมีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มของไส้เดือนทะเล และหอยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณสารอินทรีย์ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง อีกทั้งมีออกซิเจนที่มีอยู่ในมวลน้ำอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ในส่วนของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มเด่นจะเป็นกลุ่มของไดอะตอม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญด้านการเป็นอาหารสำหรับสัตว์น้ำวัยอ่อน อย่างไรก็ตามบางช่วงเวลาสามารถพบแพลงก์ตอนในกลุ่มของ cyanobacteria เพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสภาวะแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะสัดส่วนของไนโตรเจนต่อฟอสฟอรัสที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล สำหรับผลการวิเคราะห์แบบจำลองของกระแสน้ำรวมกับโอกาสการกระจายตัวของลายที่มีการปล่อยจากบริเวณชายฝั่งทะเลตำบลอ่าวใหญ่พบว่าหอยลายสามารถกระจายตัวไปได้เกือบทุกเดือนโดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม สิงหาคม และกันยายน และเมื่อพิจารณารวมกับข้อมูลทุติยภูมิจากการศึกษาที่ผ่านมาในอดีตพบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกจนถึงบริเวณกลางอ่าวตอนนอก รวมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ของน้ำและดินตะกอน ซึ่งคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถเป็นพื้นที่ที่สามารถขยายพันธุ์หรือปล่อยพันธุ์หอยลายได้ในอนาคต