Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานโดยการเพ่งความสนใจ หรือ โปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติสำหรับนิสิต ปริญญาตรี และทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติ
การดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีของการเสริมสร้างความจำใช้งานสำหรับนิสิตปริญญาตรี ระยะที่ 2 การพัฒนาเครื่องมือวิจัย ระยะที่ 3 การทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติสำหรับนิสิตปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตปริญญาตรีที่ลงทะเบียนในรายวิชาการศึกษาทั่วไปของภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาประยุกต์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2560 ภาคเรียนที่ 2 จำนวน 385 คน คัดเลือกเฉพาะนิสิตที่มีคะแนนความวิตกกังวลระดับปานกลาง คือ ตั้งแต่ 35 คะแนนขึ้นไป และสมัครใจเข้าร่วมการทดลอง จำนวน 52 คน สุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลากและจับคู่คะแนน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวนกลุ่มละ 26 คน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ 1) โปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติ ซึ่งเป็นวิธีการฝึกอบรมทางจิตวิทยาเพื่อพัฒนาความจำใช้งานที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น บนหลักการพื้นฐานของการฝึกสติ การยอมรับและพันธะสัญญา และ การฝึกหัดการรู้คิด ตามแบบจำลองความจำใช้งาน จำนวน 8 ครั้ง ๆ ละ 50 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 4 สัปดาห์ ร่วมกับการฝึกสติด้วยตนเอง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 15 นาที 2) แบบประเมินความพึงพอใจต่อการใช้โปรแกรมเสริมสร้างความจำ ใช้งานด้วยสติสำหรับนิสิตปริญญาตรี 3) 1-back task และ 2-back task 4) แบบทดสอบการเรียงลำดับตัวเลข และตัวอักษร 5) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และ 6) มาตรวัดสติ ตระหนักรู้ สนใจจดจ่อ: ฉบับภาษาไทย 7) แบบวัดความวิตกกังวล กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ 50 นาที รวม 8 ครั้ง และประเมินความพึงพอใจ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการเรียน การสอนปกติจากทางมหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างได้รับการประเมินความจำใช้งาน ความวิตกกังวลและสติ ก่อนทดลอง และหลังทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณ การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ระยะที่ 4 เป็นการเผยแพร่โปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติสำหรับนิสิตปริญญาตรี
ผลการวิจัย พบว่า
1. โปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติมีประสิทธิผลในการเสิรมสร้างความจำใช้งาน
ทั้งจากการทดสอบการเรียงลำดับตัวเลขและตัวอักษร และการทดสอบด้วย 1-back task และ 2–back
task อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นอกจากนี้ผลวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าสมองเชิงปริมาณ พบว่า
นิสิตปริญญาตรีกลุ่มทดลองมีค่าพาวเวอร์ของคลื่นเธต้าและคลื่นแอลฟ่าหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่าพาวเวอร์ของคลื่นเบต้าหลังทดลองน้อยกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในขณะทดสอบความจำใช้งาน
2. โปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติมีประสิทธิผลในการลดความวิตกกังวล และ
ลดความเครียด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. โปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติมีประสิทธิผลในการเพิ่มระดับสติ อย่างมี
นัยสาคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นิสิตปริญญาตรีกลุ่มทดลองมีความพึงพอใจต่อโปรแกรมเสริมสร้างความจำใช้งานด้วยสติ
ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( X = 4.19) นิสิตปริญญาตรีสะท้อนคิดว่าโปรแกรมการเสริมสร้างความจำ
ใช้งานด้วยสติช่วยให้นิสิตปริญญาตรีได้รับรู้ถึงปัญหาความจำใช้งานของตนเอง การสร้างเป้าหมายและวิธีการเสริมสร้างความจำใช้ที่ชัดเจน กิจกรรมการฝึกความจำใช้งานมีความแปลกใหม่ สนุก ผ่อนคลายและได้ฝึกสติในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในด้านการเรียนและการดำเนินชีวิตประจำวัน